สังคมในยุคปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะการที่ทั้งพ่อและแม่ทำงานนอกบ้าน ประกอบกับระบบครอบครัวเดี่ยวที่มีเฉพาะพ่อแม่ลูกมีมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบทำให้การทำอาหารกินด้วยกันอย่างพร้อมหน้าทำได้ยาก ขณะที่การกินข้าวนอกบ้าน เช่นการรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดในรถยนต์ เข้ามาแทนที่มากขึ้น
แม้จะไม่มีตัวเลขการสำรวจจริงมาเปรียบเทียบ แต่ผู้รู้หลายๆ คนเห็นพ้องกันว่า ครอบครัวไทยกินอาหารด้วยกันน้อยลงอย่างน่าเป็นห่วง ไม่กินข้าวมื้อเย็นพร้อมกัน ไม่เที่ยวพร้อมกัน ไม่เยี่ยมญาติ ไม่พูดคุยกันในครอบครัว แสดงว่าสถาบันครอบครัวไทยเสื่อมลงทุกที พร้อมกับปัญหาวัยรุ่นและเยาวชนที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ปัญหาท้องไม่พร้อมของวัยรุ่น และการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ฯลฯ
ขณะเดียวกันก็ได้มีการวิจัยพบว่า เยาวชนจากครอบครัวที่กินอาหารด้วยกันที่บ้านบ่อยๆ จะสูบบุหรี่ กินเหล้า ติดยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ซึมเศร้า อีกทั้งมีปัญหาที่โน้มเอียงทางฆ่าตัวตาย "น้อยกว่า" เยาวชนจากครอบครัวที่ไม่ค่อยกินอาหารค่ำด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีผลการเรียนดีกว่า การกินผักและผลไม้ อีกทั้งในเรื่องของทักษะการใช้ภาษาและสื่อสารดีกว่าด้วย และในทางสุขภาพการวิจัยยังพบว่า เยาวชนจากครอบครัวที่ไม่ค่อยกินอาหารค่ำด้วยกันที่บ้าน เป็นโรคอ้วนมากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังทำให้ประจำเดือนมาเร็วกว่าปกติด้วยเช่นกัน
ในโอกาสครบรอบ 18 ปีของ “นิตยสารครัว” นอกจากมีการเผยแพร่ข้อมูลข้างต้นแล้ว ยังได้เชื้อเชิญคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และนายบุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ สถาปนิกรางวัลเหรียญทองด้านสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยม จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมถ่ายทอดเรื่องเล่าบนโต๊ะอาหารของตน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นการสร้างความอบอุ่นให้สถาบันครอบครัว
คุณหญิงจารุวรรณระบุว่า “การกินข้าวร่วมกันเป็นความรักความห่วงใย สายสัมพันธ์ของครอบครัว คนเราไม่จำเป็นต้องรอให้ตายจากกันแล้วค่อยมาคิดถึงกัน บนโต๊ะอาหารมันคือสิ่งที่ผูกพันกันให้คิดถึงกันได้ ดังนั้นการรับประทานอาหารร่วมกันทำให้เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะเราจะคอยสังเกตคนโน้นคนนี้ ชอบกินอะไร ไม่ชอบกินอะไร จะช่วยให้เราเทกแคร์ดูแลกันดีขึ้น แม้อาหารที่บ้านจะไม่หลากหลายเหมือนข้างนอก แต่ตรงนี้มันหาที่ไหนไม่ได้ เพราะคนที่เรารักที่สุดในโลกอยู่ในบ้าน อยู่ที่โต๊ะอาหารตรงนี้ คุยกันได้ทุกเรื่อง คุยไปกินไป ได้ความรู้จากผู้เป็นพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ เป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ทำให้รักพี่รักน้อง ก็เพราะว่าเหตุมาจากการนั่งกินข้าวด้วยกัน มันเหมือนประเพณีหนึ่งของไทยที่แต่ละบ้านควรรักษาไว้”
นายบุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ สถาปนิกหนุ่ม ตัวแทนครอบครัวรุ่นใหม่ที่มีลูกเล็ก กล่าวว่า “เวลาที่ทานอาหารร่วมกันเป็นเวลาที่มีค่ามาก เราจะรู้นิสัยใจคอลูกเรา เขารู้จักแบ่งปันไหม อย่างเราไปทานข้าวที่บ้านคุณย่า ทุกคนตักข้าวได้เองหมด แต่การตักให้กันมันเป็นการแสดงความรักผ่านการให้ และเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่เขาได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากเรา เช่น เราทานผัก ลูกก็ทานผัก เราไม่ทานน้ำแข็ง เขาก็ไม่ทาน เรามีวิธีการสอนลูกโดยใช้อาหาร และคิดว่าการนั่งกินข้าวร่วมกันเป็นจุดเชื่อมต่อให้ลูกๆ ได้รู้จักชีวิตจริงในสังคมอย่างแนบเนียนและสนุก
ดินเนอร์สามัคคีช่วยแก้พฤติกรรมบริโภค
ในขณะเดียวกันยังมีงานวิจัยจากต่างประเทศระบุด้วยว่า วัยรุ่นที่นั่งทานอาหารพร้อมหน้ากับครอบครัว แทนการนั่งทานอาหารไปดูทีวีไป มีความเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมการกินผิดปกติที่น้อยกว่า
บาร์บารา ฟีส นักวิจัย กล่าวว่า "คนปกติมักเชื่อว่าวัยรุ่นไม่ชอบใช้เวลากับพ่อแม่และผู้ปกครอง หรือไม่ก็ไม่มีเวลาสำหรับการรับประทานอาหารกับครอบครัว"
เธอชี้ว่า แม้ครอบครัวจะไม่สามารถทานอาหารพร้อมหน้ากันได้ทุกวัน แต่อย่างน้อยหากพ่อแม่สามารถจัดตารางให้มีการทานอาหารพร้อมกันอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็จะช่วยรับประกันสุขภาพที่ดีของลูกในวัยรุ่นได้ดีระดับหนึ่ง
ฟีสกล่าวว่า จากผลวิจัย 17 ชิ้นที่ทำการศึกษาเรื่องพฤติกรรมการกินและโภชนาการ ซึ่งทำการศึกษาเด็กและวัยรุ่นทั้งหมด 200,000 คน เธอพบว่าวัยรุ่นที่กินข้าวพร้อมครอบครัวอย่างน้อย 5 มื้อต่อสัปดาห์ จะมีความเสี่ยงต่อพฤติกรรมการกินผิดปกติน้อยลง 35%
พฤติกรรมการกินผิดปกติในที่นี้หมายถึง การอ้วกหลังทานอาหารของผู้ที่ชอบเป็นโรคบูลีเมีย และคนที่พยายามลดน้ำหนักด้วยการใช้ยา อดอาหาร หรือทานน้อยลง รวมถึงผู้ที่พึ่งพาบุหรี่เพื่อลดน้ำหนัก
อย่างน้อยการทานอาหารพร้อมครอบครัวสัปดาห์ละ 3 มื้อ ช่วยให้วัยรุ่นมีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนน้อยลง 12% เมื่อเทียบกับวัยรุ่นที่กินข้าวกับครอบครัวน้อยกว่า อีกทั้งยังช่วยให้วัยรุ่นได้รับสารอาหารที่เหมาะสม และมีพฤติกรรมการกินที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าคนที่กินข้าวนอกบ้าน 24%
ฟีสซึ่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ กล่าวว่า การทานข้าวพร้อมหน้ากันยังช่วยให้ครอบครัวอบอุ่นมากขึ้น รวมทั้งยังทำให้การพูดจาหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินราบรื่นมากขึ้น
เธอชี้ว่า วัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ จะถูกสังเกตได้เร็วขึ้นหากรับประทานอาหารกับครอบครัว ซึ่งช่วยให้ป้องกันได้รวดเร็วขึ้น และยับยั้งไม่ให้กลายเป็นพฤติกรรมการกินผิดปกติสมบูรณ์แบบ นอกจากนี้วัยรุ่นยังสามารถอาศัยช่วงเวลาดังกล่าวในการปรับความเข้าใจกับครอบครัวได้เช่นกัน
ฟีสกล่าวว่า การรับประทานพร้อมหน้ากัน จะเป็นหนทางหนึ่งที่วัยรุ่นสามารถใช้ปรับตัวเข้าหาพ่อแม่ และแสดงความคิดเห็นได้อย่างมีอิสระ หากการรับประทานอาหารไม่ใช่การบังคับ และวัยรุ่นสามารถมีส่วนร่วมในการสื่อสารได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะหากทำให้วัยรุ่นรู้สึกว่าเป็นการใช้เวลาที่คุ้มค่า พวกเขาจะยินดีร่วมรับประทานอาหารเสมอ
งานวิจัยในสหรัฐก่อนหน้านี้ระบุว่า เด็กที่ไม่ได้รับประทานอาหารกับครอบครัว จะมีปัญหาในการใช้ชีวิตในโรงเรียน และในที่สุดอาจดื่มเหล้าหรือเสพยาเสพติด
หากผู้ปกครองคนใดที่ไม่ทราบว่าจะคุยเรื่องอะไรกับบุตรหลานของตน ศาสตราจารย์ฟีสแนะนำว่า ไม่ควรที่จะซักไซ้เรื่องที่โรงเรียน แต่ควรเป็นเรื่องชวนคุยอื่นๆ เช่น "หากมีเงินสิบล้านบาท จะใช้ทำอะไร?".
อ้างอิงบทความ :
เรื่องดีๆ ของการกินอาหารพร้อมกันในครอบครัว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น