2555-11-05

ฟื้นฟู "คลองแสนแสบ" สายน้ำแห่งชีวิตคนกรุงเทพฯ



9 ตุลาคม 2546

สยามรัฐ : ชีวิตกว่า 166 ปี ที่คลองแสนแสบเป็นสายน้ำเส้นโลหิต ที่ไหลเคียงคู่กับคนในกรุงเทพมหานครจวบจนปัจจุบัน แต่ภาพที่ฉาย ให้มีเหลือไว้เพียงแค่เส้นทางการคมนาคมสัญจรของคนเมืองกรุง เพื่อความสะดวกสบายกับถังขยะใบโตเพียงแค่นั้นหรือ“ในอดีตนั้นน้ำในคลองแสนแสบตลอดสาย จะใสสะอาด ประชาชนใช้น้ำในคลองในการอุปโภคบริโภค ทำการเกษตร เป็นเส้นทางคมนาคม และยังมีสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในคลองเป็นจำนวนมาก” 

คลองแสนแสบถือว่าเป็นคลอง ที่มีความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ ทั้งในด้านการรบ การขนส่ง และการเสด็จประพาสของพระมหากษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์

รอยคราบที่เปรอะเปื้อนจากพัฒนาการทางสังคมเมือง ได้นำปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองแสนแสบได้สะสมทวีคูณเลื่อยมา จนเป็นปัญหาสังคมตามมา ความจำเป็นประโยชน์จากน้ำในการใช้สอยค่าในครอบครัวและชุมชนได้เปลี่ยนไปเป็นการได้รับประโยชน์จากการคมนาคมแทนโดยสิ้นเชิง

ปัจจุบันเมืองกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัยไม่ต่ำกว่า 15 ล้านคน และมีประชากรอีกหลายล้านคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเป็นผู้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์คลองแสนแสบโดยรู้เท่าไม่ถึงการ หรือความประสงค์จงใจ อันได้แก่ การปล่อยน้ำเสียจากครัวเรือน อาคารสำนักงาน โรงงาน โรงพยาบาล โรงแรม ซึ่งส่วนใหญ่จะทิ้งน้ำผ่านบ่อพักแล้วไหลลง

จะเห็นได้ว่าปมเหตุของน้ำเสียส่วนใหญ่ มาจากฝีมือมนุษย์ย่ำยีอันเป็นผลพ่วงมาจากการพัฒนาเติบโตรวดเร็วของเมืองและชนบท ซึ่งได้ทำลายวงจรชีวิตของสิ่งที่มีคุณค่า อันเป็นบ่อเกิดแห่งปัญหาสังคมที่ได้สะท้อนกับมาสู่สุขภาพของหมู่มวลมนุษย์ ที่อยู่ภายในสภาพแวดล้อมเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดได้ทำลายความสดใสของธรรมชาติของคลองน้ำ หนองบึง

ถึงแม้รัฐบาลชุดนี้จะประกาศให้วันที่ 20 กันยายน จะเป็นวันและอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อม แม่น้ำ คู คลองแห่งชาติแล้วก็ตาม แต่ปัญหาน้ำเสียในคลองแสนแสบ เป็นการสูญเสียวงจรห่วงโซ่ธรรมชาติ การแก้ปัญหาน้ำเสียในคลองแสนแสบควรอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างข่ายใยชีวิตขึ้นมาใหม่ สิ่งแรกที่ต้องลงมือปฏิบัติ คือ จะต้องไม่ทิ้งหรือใช้สารพิษที่ทำลายชีวิตต่างๆ

“สาเหตุส่วนใหญ่คือ ผู้ที่อยู่อาศัยริมคลองได้ทิ้งขยะลงคลอง มีการระบายน้ำเสียจากท่อระบายน้ำบนถนนลงคลอง ปัญหาน้ำเสียจากบ้านริมคลอง น้ำมันจากเรือโดยสารปล่อยลงคลอง” 

ผศ.ดร.แต่งอ่อน ตนมั่นใจ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคม สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กล่าวว่า โครงการเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยนำน้ำสกัดชีวภาพ และเม็ดสกัดชีวภาพใส่ในคลองพังพวง พบว่าน้ำที่ส่งกลิ่นเหม็นกลับไม่มีกลิ่น ขณะเดียวกันสีของน้ำก็ใสสะอาดขึ้น

นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้ในครัวเรือนได้โดยนำน้ำสกัดชีวิภาพผสมน้ำ 1 ต่อ 50 เท่า เทลงในบ่อพักน้ำเสียหรือท่อระบายน้ำทิ้ง จะช่วยย่อยสลายไขมัน ท่อไม่อุดตัน ทำให้สภาพน้ำดีขึ้น แม้จะไม่ใสเลยดีทีเดียว ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้น้ำสกัดชีวภาพประมาณ 50,000 ลิตรและเม็ดสกัดชีวภาพไม่ต่ำกว่า 10 ตัน

ทั้งนี้ คนทุกคนสามารถร่วมคืนความสดใสให้คลองแสนแสบในในรูปแบบต่างๆ ได้ โดยการร่วมเรียนรู้ และปฏิบัติเป็นตัวอย่างในการอนุรักษ์น้ำรวมทั้งการสร้างวัฒนธรรมในการอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดขึ้นในบ้าน ในองค์กร และชุมชนต่างๆ ร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์น้ำในคลองโดยใช้น้ำสกัดชีวภาพเทจากที่ล้างจาน หรือห้องน้ำ ท่อระบายน้ำ หรือในคลอง

สำหรับการแก้ปัญหาน้ำเสียในคลองแสนแสบจะมีอยู่ 2 ภาค คือ ในภาคชนบทตั้งแต่จังหวัดฉะเชิงเทราถึงหนองจอก มีนบุรี และภาคในเมืองจากวัดศรีบุญเรืองจนถึงประตูน้ำ โดยมีคูคลองเล็กใหญ่ไหลผ่านเขตบางกะปิ เขตบึงกุ่ม เขตคันนายาว และเขตวังทองหลาง

นายเทวา วงษ์สถิตย์ ชมรมรักษ์คลองพังพวย เป็นผู้หนึ่งที่เคยได้ร่วมรณรงค์เทน้ำมักชีวภาพกล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเทน้ำชีวภาพไปแล้ว รู้สึกว่าน้ำในคลองดีขึ้นจึงเริ่มมีกำลังใจทำงานต่อไป พอผ่านไปไม่กี่ชั่วโมงน้ำก็เริ่มกลับมาเป็นเหมือนเดิม ซึ่งก็ทำให้เคยเกิดความท้อแท้ ในการที่จะทำน้ำในคลองลำพังพวยที่เชื่อมต่อกับคลองแสนแสบให้ใสสะอาด

“พวกเราภายในชุมชนแฟลตคลอจั่น 30 ก็พยายามสู้ทำน้ำสกัดชีวภาพมาเทลงคลองและรณรงค์ให้คนในชุมชนเทน้ำสกัดลงภายในท่อน้ำทิ้งของแต่ละครัวเรือนอีกครั้งและอีกต่อไปจนกว่าน้ำในคลองสดใสดีขึ้น” 

นางปรีดา คงแป้น เลขามูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า ถ้าการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียคลองแสนแสบ ยังไม่ได้เข้าบรรจุวาระแห่งชาติเหมือนกับการแก้ปัญหายาเสพติดก็คงจะเป็นเรื่องยากที่จะแก้ปัญหาได้จริงจังเพราะต้องระดมความร่วมมือในระดับชาติถึงจะมีแรงขับเคลื่อนในดีและรวดเร็ว

จากรายงานของทางกทม. ปรากฏว่าผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำน้ำเสียเกิดจากการปล่อยประละเลยของผู้ประกอบการได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลจากบ้านเรือนและสถานประกอบการมีถึง 70% ของประชากรที่อยู่ริมสองฝั่งคลองแสนแสบ

ขณะเดียวกันปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองแสนแสบ ได้มีหน่วยงานต่างๆ ที่ขันอาสาเข้ามาร่วมโครงการทำคลองแสนแสบให้ฟื้นคืนชีพกลับมาใสสะอาดอีกครั้ง

“ที่ผ่านมากรุงเทพฯ ทำได้แค่ปล่อยน้ำดีมาไล่น้ำเสีย เพื่อน้ำดูสะอาดขึ้น แต่ตะกอนที่อยู่ใต้คลองที่อยู่ไม่ได้ถูกไล่ไปกันสายน้ำ อีกทั้งทุกวันนี้เรือด่วนก็ยังแล่นสวนไปมากันควักไคว่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำไม่เว้นแม้วันหยุดราชการ จึงทำให้ไปกวนตะกอนที่อยู่ใต้พื้นน้ำ จนเป็นสีขุ่นหมอง” นางณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานครกล่าว

หน่วยงานกรุงเทพมหานครก็เป็นอีกตัวจักรหนึ่งที่เข้ามามีส่วนร่วมรณรงค์สร้างความสดใสให้คลองแสนแสบสะอาด แต่ยังมีหน่วยงานหลายแห่งที่ได้เข้ามาร่วมโครงการ “ประชารวมใจ คืนความสดใสให้คลองแสนแสบ” โดยที่มีคณะพัฒนาสังคม สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เป็นแม่งานที่อยากจะเห็นความสดใสเกิดขึ้นกับคลองแสนแสบ

ดังนั้น การฟื้นฟูและอนุรักษ์คลองแสนแสบจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับคนไทยและ การสร้างคุณภาพชีวิตของคนกับคลอง ได้พึ่งพาอาศัยกันเปรียบเป็นสายน้ำแห่งชีวิตที่มีคุณค่าแห่งนี้

ณ เวลานี้ชีพจรและหัวใจของคลองแสนแสบกำลังเต้นอ่อนล้าลงอย่างช้า โดยได้พลังกายพลังใจจากหน่วยงานที่แข็งขันและชุมชนริมคลองบางกลุ่มที่ให้อากาศพยุงชีวิตได้หายใจคล่องขึ้น โดยยากที่จะมีหมอใหญ่เข้ามาดูแลและเยี่ยวยา

“สำหรับยาดีที่จะรักษาปัญหาน้ำเสียคลองแสนแสบ ก็น่าจะบรรจุเข้าปัญหาเป็นวาระแห่งชาติที่คนไทยทุกคนที่มีส่วนร่วมใช้สอยผลประโยชน์จากสายน้ำทั้งทางตรงและทางอ้อม” 

ชะตากรรมน้ำเสียคลองแสนแสบในวันนี้บ่งบอกถึงอาการโคม่าแบบตายทั้งเป็น แล้วจะใครมียาวิเศษที่จะมาเยี่ยวยาและรักษาให้คลองแสนแสบกลับฟื้นคืนชีพอีกครั้ง !!



(คลิ๊กที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่)


อ้างอิง : ประวัติคลองแสนแสบ 1/2
              พินิจนคร ตอน ชุมชนคลองแสนแสบ
              สารพัดปัญหาคลองแสนแสบ
              5 แนวทางฟื้นคลองแสนแสบใน 10 ปี
              แสนแสบเน่า เรื่องคุ้นเคยคนกรุง
              ฟื้นระบบคลอง กทม.คืนเสน่ห์เวนิสตะวันออก
              175 ปีคลองแสนแสบ กับปัญหาน้ำเน่า



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

2leep.com