2555-11-08

ความสุขของคนต้นน้ำน่าน



บ้านยอด อ.สองแคว จ.น่าน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำน่าน มีปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดาที่เรียกกันว่า “น้ำมุด” คือลำน้ำที่ไหลมาสู่หมู่บ้านนั้นมุดหายไป แต่กลับมาโผล่ที่ท้ายหมู่บ้าน ทำให้น้ำในหมู่บ้านไม่พอทำไร่ทำนา เมื่อชาวบ้านทำฝายเพื่อกักเก็บน้ำจากลำน้ำยอดที่เป็นลำน้ำสำคัญ ฝายที่ทำก็ไม่แข็งแรง ยามเมื่อน้ำหลากฝายก็พังแทบทุกครั้ง กักเก็บน้ำไม่ได้ จนคนบ้านยอดส่วนหนึ่งเลิกทำไร่ทำนา เดินทางมาทำงานที่กรุงเทพ ฯ 

เมื่อโครงการปิดทองหลังพระ ฯ เดินทางมาที่บ้านยอด จึงช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำที่ไม่สมดุลย์ของหมู่บ้านก่อนอื่นใด นั่นคือให้ความรู้ในการสร้างฝายที่แข็งแรง การใช้กล่องกาเบียรมาช่วยรับแรงกระแทกของน้ำ และทำบ่อพวงเพื่อกักเก็บน้ำยามฤดูแล้ง ซึ่งทั้งหมดนี้โครงการปิดทองหลังพระ ฯ สนับสนุนวัสดุ-อุปกรณ์ โดยให้ชาวบ้านเป็นผู้ลงแรงทำเอง นอกจากนี้ โครงการปิดทองหลังพระ ฯ ยังส่งเสริมให้มีกองทุนเมล็ดพันธ์ กองทุนหมู และกองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ซึ่งจะช่วยให้ชาวบ้านพึ่งตนเองได้ โดยไม่ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง

ความสุขของคนบ้านยอด ทำให้คนบ้านสะเกิน ที่อยู่ในตำบลเดียวกันอยากจะทำตามบ้าง คนบ้านยอดจึงไปช่วยถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ ให้ ซึ่งนี่เองคือความมุ่งมั่นของโครงการปิดทองหลังพระ ฯ ที่อยากให้คนต้นน้ำนั้นพึ่งตนเองได้ และเป็นผู้พิทักษ์ป่าต้นน้ำสืบไป ด้วยเพราะน้ำน่านนั้นไหลรินสู่เจ้าพระยา หล่อเลี้ยงคนหลายล้านคนในประเทศไทย 



บ้านน้ำป้าก อ.ท่าวังผา จ.น่าน ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย และได้เกิดอุทกภัยร้ายแรงในปี 2551 เกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม มีคนเสียชีวิตมากมาย แม้จะมี ฝายอยู่ 20 กว่าตัว แต่ก็ไม่สามารถต้านกำลังน้ำได้ แต่พอถึงหน้าแล้ง คนในหมู่บ้านก็มีน้ำไม่พอใช้ในการทำการเกษตร คนกลุ่มเล็ก ๆ ในหมู่บ้านจึงคิดหาวิธีแก้ปัญหาอย่างจริงจังและเดินทางมาขอความช่วยเหลือโครงการปิดทองหลังพระ ฯ

โครงการปิดทองหลังพระ ฯ จึงสนับสนุนการสร้างฝายที่แข็งแรงและให้ความรู้ในการสร้าง ซ่อมแซม และดูแลฝาย และส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกองทุนเมล็ดพันธุ์ กองทุนหมู และกองทุน ต่าง ๆ ด้วยมุ่งหมายให้คนน้ำป้ากพึ่งตัวเองได้

นับจากการเข้ามาของโครงการปิดทองหลังพระ คนบ้านน้ำป้ากจึงร่วมมือกับคนบ้านห้วยธนู บ้านห้วยม่วง ซึ่งอยู่ในตำบลเดียวกันและประสบปัญหาเรื่องน้ำที่ไม่สมดุลย์เหมือนกัน ร่วมกันสร้างฝายทั้งฝายหินก่อ ฝายอนุรักษ์รวมแล้วกว่า 500 ฝาย และในปีต่อมาก็ร่วมมือกันสร้างอีก 200 กว่าฝาย

วันนี้คนบ้านน้ำป้าก จึงเป็นหมู่บ้านต้นแบบที่แสดงถึงพลังของคนในชุมชนที่ยืนหยัดสู้ทุกปัญหา แม้ว่าโลกจะร้อน หรือน้ำจะแล้งก็ตามที




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

2leep.com