2554-12-23

วิพากษ์ละครไทย


วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนดับเบิลซีไรต์ ได้ตั้งคำถามไว้ในหมวดบันเทิงและดนตรีที่ว่า เราสมควรรื้อถอนโครงสร้างของละครไทยแบบเดิม ๆ นี้หรือไม่ และเพราะอะไร ? 

--------------------------------------------------------------------------------

หัวใจของการถกกันนี้มิใช่การหาคำตอบที่ถูกต้องที่สุด แต่อยู่ที่การแตกหน่อทางความคิดร่วมกันมากที่สุด เมื่อพิจารณาคำตอบของแต่ละท่าน ก็นับว่าเราบรรลุจุดหมายในระดับหนึ่ง นั่นคือมีความหลากหลายของความคิด มีหลายประโยคที่คมบาดสมองทีเดียว เช่น :
- ละครสร้างฝันเพื่อบำบัดทางจิตของคนในสังคม
-โครงสร้างไทยคือลิเก คือโขน คือความไม่สมจริง แต่สมฝัน
- สื่อสารมวลชนเป็นกระจกเงา บอกบุคลิกที่ดีที่สุดของแต่ละประเทศ
- ผู้ชมขัดขืน สื่อมวลชนขัดขืน ผู้สร้างขัดขืน 
เป็นต้น

คำตอบโดยรวมน่าสนใจครับ คุณ Gwiddy วิเคราะห์ที่มาของละครไทยได้ดี เช่นเดียวกับบทวิเคราะห์ของคุณน้ำที่อธิบายคุณลักษณ์ของคนไทย “เรายังไม่เชื่อมั่นว่าเรามีความสามารถจะเปลี่ยนแปลงหรือสรรค์สร้างอะไรได้ด้วยตัวเอง เรายังรอโชค รอฟ้าประทานพร หรือแม้แต่รอแย่งชิงประโยชน์ที่ไม่พึงมีพึงได้ ตามแบบความสำเร็จในชีวิตของตัวละครที่เราคุ้นเคย”

ประเด็นของคุณ Dictshir ก็น่าสนใจ นั่นคือ “เราชอบโทษแต่ผู้สร้าง ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหาสำคัญอีกอย่างก็คือคนดูนั่นเอง ที่ยังอุตส่าห์ตามดูได้ทุกเรื่องทุกเวอร์ชั่น”

เช่นกัน คุณ Bright eye Tomato ก็มีมุมมองน่ารับฟัง “ท่านเขียนหนังสือเพื่ออะไร เขียนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม หรือท่านเขียนเพื่อเยียวยาบาดแผลจากผู้คนที่อยู่อย่างไร้ความฝัน สิ้นหวัง นิยายน้ำเน่าแม้มันจะเป็นโครงสร้างเก่า มันเป็นเรื่องราวเดิมๆ เพียงเปลี่ยนฉากเปลี่ยนรูป ให้มันเหมาะสมัย แต่ความฝันและความหวังเหมือนเดิม เหมือนยาเสพย์ติดที่ทำให้ผู้คนลืมความโหดร้ายตัวจริงที่โบยตีอยู่ทุกวัน”
ในบรรดาคำตอบทั้งหมด ดูเหมือนคำตอบของคุณ Noi น่าจะครอบคลุมประเด็นได้กว้างกว่า เป็นการมองปัญหาแบบความเป็นจริง และเสนอการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะประเด็นที่ป้องกันเด็กๆ จากการรับสารความคิดที่ผิดๆ และการรับผิดชอบของทั้งคนสร้างและคนเสพ

สิ่งที่ผมอยากเสริมก็คือ คำว่า ‘รื้อถอน’ ในคำถามนี้ มิได้มีนัยของการทำลายโดยสิ้นซาก แต่เป็นการพัฒนาต่อไปไม่ให้ซ้ำรอยเดิมมากกว่า พูดง่ายๆ คือ เราจะเต้นฟุตเวิร์กอยู่กับที่ หรือว่าจะวิ่งออกไปจากจุดเดิม

หากเราเลือกที่จะวิ่งออกไปจากจุดเดิม ก็นำไปสู่อีกสองคำถามคือ

1) ทำไมต้องเปลี่ยนแปลง? มันสำคัญนักหรือ? ในเมื่อละครโทรทัศน์ก็เป็นเพียงความบันเทิงราคาถูกสำหรับคนทั่วไป จะเอาสาระอะไรกันนักหนา? และ 

2) เรามีความสามารถเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือ ทั้งในแง่นายทุนและผู้สร้างสรรค์งาน?
สำหรับข้อแรก : เราต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า สังคมคือการอยู่ร่วมกันของคนกลุ่มใหญ่ คุณค่าของสังคมก็คือความผาสุกของคนส่วนใหญ่, คุณภาพชีวิต และคุณภาพของมนุษย์ (ไม่เช่นนั้นก็ไม่รู้จะมาอยู่รวมกันทำไม) และสิ่งหนึ่งที่มีส่วนพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีก็คือศิลปะที่ดี

เมื่อมองอย่างนี้ จะเห็นว่าเราสามารถใช้คุณภาพชีวิตและคุณภาพของมนุษย์เป็นมาตรวัดคุณค่าของศิลปะ ศิลปะที่ดีน่าจะมีส่วนช่วยทำให้มนุษย์มีคุณค่าขึ้น ไม่ทางจิตใจก็ทางความคิด และอะไรก็ตามที่ทำให้มนุษย์ลดค่าลงหรือโง่ลง ไม่ว่ามันจะดำรงอยู่ในสังคมมานานเท่าไร นอกจากจะไม่น่าจัดว่ามีคุณค่าแล้ว อาจจะไม่นับว่าเป็นศิลปะด้วยซ้ำ

ภาพยนตร์เป็นสายหนึ่งของศิลปะ หากเราดูสายธารของศิลปะทุกสายในประวัติศาสตร์โลก ศิลปะเป็นสิ่งที่ไม่อยู่นิ่ง ไม่มีกรอบตายตัว ไม่มีกฎกติกาใดๆ และเนื่องจากมันไม่อยู่นิ่งนี่เอง จึงก่อเกิดสายธารศิลปะมากมายหลายแขนง ยกตัวอย่างเช่นในงานจิตรกรรม หากถือว่าการวาดภาพแบบเรียลิสติกเป็นแนวทางมาตรฐานหรือเอกลักษณ์ที่ต้องอนุรักษ์ดำรงไว้ โลกนี้ก็คงไม่มีทางกำเนิดศิลปะสายอื่นๆ เช่น แนวแอ็บสแตร็คท์ แนวเซอร์เรียลิสม์ แนวป๊อปอาร์ต ฯลฯ และศิลปินอย่าง แวนโก๊ะห์ ปิกัสโซ่ เซอราต์ ฯลฯ ก็ไม่มีทางได้เกิด เช่นกันด้วยความเชื่อที่ไม่ยอมถูกจำกัดด้วยกรอบใดๆ โลกเราตอนนี้จึงมีตระกูลนิยายมากมายกว่าสมัยเชกสเปียรส์หลายร้อยเท่า และนี่เป็นสิ่งที่ดีมิใช่หรือ?

ผมเชื่ออย่างโง่ๆ (และอาจจะไร้เดียงสา) ว่าเราสามารถนำพาสังคมของเราไปสู่ความสวยงามและมีคุณค่ากว่าเดิมได้ ผมมองไม่เห็นว่าทำไมเราต้องจำนนทนอยู่กับสิ่งเดิมๆ เพียงเพราะมันอยู่มานาน เราเลือกได้ และเมื่อเราถูกต้อนไปสู่มุมอับที่ดูเหมือนไม่มีทางเลือก เราก็สามารถปฏิเสธ ‘ทางเลือก’ ที่คนอื่นยื่นให้เราได้ เช่นเดียวกับที่เราปฏิเสธผงชูรส สารกันบูด สีฟอก ฯลฯ เพราะเรารู้ว่าในระยะยาวมันอาจทำให้เราเป็นมะเร็งได้

ปัญญาของคนเราเกิดมาจากการรับสารความคิดแบบหลากหลาย มีใครบ้างที่ร่างกายแข็งแรงจากการเสพข้าวขาหมูอย่างเดียวทุกมื้อทุกวัน? สมองของคนเราก็ต้องการสารอาหารทางปัญญาครบห้าหมู่ ไม่ว่าเราจะรับสารความคิดมาจากการศึกษา ประสบการณ์ หรือผ่านศิลปะ ยิ่งมีทางเลือกมาก ก็ยิ่งทำให้เรารู้จักคิดมากขึ้น และท้ายที่สุดแล้วสังคมก็จะได้คนที่มีคุณภาพมากขึ้น และสังคมยิ่งมีคนมีคุณภาพมากขึ้นเท่าไร คุณภาพชีวิตของเราก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น ไม่เพียงแต่เราจะเป็นคนฉลาดขึ้น เราจะมีความสุขขึ้น

สำหรับข้อที่สอง : เรามีความสามารถเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือ ทั้งในแง่นายทุนและผู้สร้างสรรค์งาน? นี่เป็นคำถามที่ท้าทายความคิด โดยเฉพาะคนที่เชื่อว่า สภาพทางการตลาดทำให้เราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่จริงหรือ?

มีส่วนจริงอยู่บ้างเช่นที่คุณ Manhaswi ว่าคือ “และหากเราให้ในสิ่งที่เป็นจริงซึ่งเขาเผชิญหน้าอยู่แล้วทุกวัน คุณคิดว่าเขาจะรู้สึกอินกับเรื่องไหมครับ หรือจะเบื่อว่าไม่อยากรับรู้มากกว่ากัน เพราะตัวฉันก็เหนื่อยกับชีวิตจริงอยู่แล้ว ทำไมต้องมารับรู้มาดูความจริง… ” แต่ข้อแย้งคือการเบื่อชีวิตจริงและความอยากหนีความจริงเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการเป็นคนละเรื่องกับการเดินย้อนรอยศิลปะแบบเดิม และความเห็นของบางท่านที่ว่า “อย่าลืมว่าชีวิตจริงของคนบางคนเน่าซะยิ่งกว่าละครอีก” ก็เป็นคนละเรื่องกับความจำเจของเนื้อหา เพราะในมุมมองของศิลปะ แก่นเรื่องเดิมๆ ก็สามารถนำเสนอได้ใหม่อย่างสร้างสรรค์ ตัวอย่างความบันเทิงมากมายในโลกที่สามารถสอดสาระเข้ากับความบันเทิงและยกระดับผู้เสพ ทำให้เราต้องถามตัวเองว่า ถ้าเรารู้ว่าเราสามารถส่งเสียลูกให้เรียนจบปริญญาได้ เราจะยอมให้เขาจบแค่ชั้นอนุบาลหรือ?

ผมทำงานในวงการสร้างสรรค์มานานพอที่กล้ายืนยันได้ว่า ศิลปะไม่มีข้อจำกัดอย่างที่คนไม่น้อยชอบใช้เป็นข้ออ้าง ผมไม่เห็นด้วยว่าคนสร้างไม่มีปัญญาคิดเรื่องใหม่ๆ

สำหรับประเด็นที่ว่า แนวทางละครเปลี่ยนไม่ได้เพราะการตลาดหรือเรตติ้งบังคับนั้น เราอาจดูตัวอย่างจากที่ในสมัยหนึ่งทุกคนในประเทศไทยมีความพอใจอย่างยิ่งกับการดูหนังวิดีโอคาสเส็ตต์ จนเมื่อเทคโนโลยีวีซีดีเข้ามา วิดีโอคาสเส็ตต์ก็หายไปอย่างรวดเร็ว และเมื่อดีวีดีเข้ามา วีซีดีก็ค่อยๆ หายไป ลองคิดดูเล่นๆ หากตีสามคืนนี้ผู้ผลิตละครโทรทัศน์ทุกรายถูกมนุษย์ต่างดาวจับไปล้างสมอง และวันพรุ่งนี้หันมาผลิตแต่หนังคุณภาพระดับสารอาหารครบห้าหมู่ ประชาชนก็ย่อมไม่มีทางเลือกนอกจากจะรับ และบางทีเมื่อพวกเขารู้รสของ ‘ดีวีดี’ ก็อาจไม่มีวันหวนกลับไปหา ‘วิดีโอคาสเส็ตต์’ อีก!

ทว่าเนื่องจากเราไม่มีมนุษย์ต่างดาวมาช่วยตัดสินใจแทนให้ เราก็ต้องเลือกเอาเอง จะเลือกที่จะเปลี่ยนมาก เปลี่ยนน้อย หรือไม่เปลี่ยนเลยก็อยู่ที่เราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นทางใด อย่างน้อยที่สุดในด้านคนสร้างสรรค์งาน ก็ควรมีความรับผิดชอบส่วนหนึ่งในการไม่ใส่สารเมลามีนทางความคิดแก่คนดู ในด้านคนเสพ ก็มีความรับผิดชอบในการกลั่นกรอง รู้จักปฏิเสธสารเมลามีนทางความคิดให้ลูกหลาน ไม่ว่าจะด้วยวิธีของคุณชราภาพทราบแล้วเปลี่ยนที่ว่า “รีโมตอยู่ในมืออยู่แล้วค่ะ” หรือวิธีของคุณ Kongkong Taitai Manla ที่ว่า “ผู้ชมขัดขืน”

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกอย่างทุกจุดของสิ่งเดิมจะเป็นเรื่องแย่ที่ต้องรื้อถอน หากรู้จักเลือกองค์ประกอบเดิมที่ดีมาใช้ เราก็อาจนำพาละครไทยไปสู่ความบันเทิงแบบไทยๆ ที่มีคุณค่าได้เช่นกัน อย่างที่คุณ Bright eye Tomato เสนอว่า “เราควรจะมองจุดดีของความยืนยงของละครไทย แล้วดัดแปลงให้เหมาะกับยุคสมัย”

เราอาจเดินไปไม่ถึงโลกแห่งความสมบูรณ์แบบ แต่หากเราลองเดิน อย่างน้อยที่สุดเราก็น่าจะได้โลกที่ดีขึ้นกว่าเมื่อวานนี้

และนี่มิใช่เรื่อง ‘เหนือจริง’ แต่อย่างไร



วินทร์ เลียววาริณ
ราตรีพระจันทร์ยิ้ม 2551

--------------------------------------------------------------------------------

ส่วนตัวเจ้าของบล็อก : มองว่าละครหลังข่าว บทภาพยนตร์ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์หรือแม้กระทั่งสื่อสิ่งพิมพ์ข้อมูลข่าวสารใด ๆ ก็ตามล้วนแต่มีอิทธิพลอย่างยิ่งกับผู้รับสาร หรือผู้ชมโดยตรง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และเคยตั้งข้อสังเกตว่า"หากอยากทราบว่าประเทศไหน มีศักยภาพเพียงใด หรือแม้แต่อุปนิสัยและวิถีชีวิตแห่งชาตินั้น ๆ เป็นอย่างไร ? สามารถดูได้จากบทละคร ภาพยนตร์ไปจนถึงสื่อสารมวลชนทุกชนิดที่สามารถสะท้อนภาพของประชากรในประเทศไม่มากก็น้อย จริงหรือ!" ซึ่งก็น่าจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอยู่บ้าง ปัจจุบันผู้เขียนเลิกเสพย์ความบันเทิงเริงรมย์ในรูปละครหลังข่าวโดยสิ้นเชิง แต่ก็มีบ้างเป็นครั้งคราวที่มักถามคนใกล้ชิดว่าละครคืนนี้เรื่องอะไรนะ(ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเปิดดู)และบ่อยครั้งที่พูดคุยกับคนอื่น ๆ ไม่รู้เรื่อง เมื่อเขาเหล่านั้นกล่าวถึงเรื่องราวที่เิกิดขึ้น(ในละคร)ต่อจากเมื่อวานนี้...

เหตุใดชีวิตจึงไม่เหมือนดังในละครหลังข่าว : http://journals-marcus.blogspot.com/2011/12/blog-post_14.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

2leep.com