2554-12-07

บทเรียนชีวิตที่จิตแพทย์อยากบอกให้โลกรู้


โดย รศ.วิทยากร เชียงกูล

ชื่อบทความนี้คือชื่อหนังสือภาษาไทยที่ผมแปลมาจากหนังสือ THE LESS TRAVELLED ROAD ของเอ็ม สก๊อต เปค จิตแพทย์ชาวอเมริกัน เป็นหนังสือแนวจิตวิทยาสำหรับคนอ่านทั่วไปที่ขายดีมากกว่า 6 ล้าน และแปลเป็นภาษาต่าง ๆ กว่า 20 ภาษา ฉบับภาษาไทยพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีที่แล้ว โดยใช้ชื่อว่า ทางสายใหม่ ฉบับนี้สำนักพิมพ์โอ้มายก๊อด พิมพ์ครั้งที่ 2 โดยสำนักพิมพ์ขอตั้งชื่อหนังสือใหม่

หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้เสนอแนวคิดทางจิตวิทยาและบทเรียนแง่คิดจากคนไข้ทางจิตเพื่ออธิบายให้เราเข้าใจความคิดและพฤติกรรมของตัวเราเองและคนรอบข้างได้ดีขึ้น และช่วยให้เราเห็นช่องทางที่จะแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต และพัฒนาความเจริญงอกงามทางจิตใจของตัวเองและคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นคู่รัก คู่ครอง ลูก ญาติมิตร เพื่อนฯลฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น การพัฒนาตัวเองและช่วยคนอื่นไปสู่การมีวินัย(ในตนเอง) มีความรักที่แท้จริง และเจริญงอกงามทางจิตใจ สะท้อนถึงการรู้จักนำตัวเองและการนำคนอื่น ๆ ในทางสร้างสรรค์

หนังสือแบ่งเป็น 4 ภาค 2 ภาคที่สำคัญ คือ เรื่องวินัยและเรื่องความรัก

ภาคหนึ่ง วินัย (discipline) วินัยคือเครื่องมือพื้นฐานชุดหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหาของชีวิต แนวทางการฝึกวินัยหรือจิตสำนึก คือการพยายามเข้าใจในเรื่องการคิด, พฤติกรรม, การควบคุมตนเอง, ภูมิใจ, จัดระเบียบชีวิตของตนเอง, การใช้ชีวิตในทางสร้างสรรค์ ที่จะช่วยพัฒนาความเจริญงอกงามทางจิตใจของเรา

การพัฒนาวินัยในตัวเองประกอบด้วย 4 แนวทาง คือ

(1) การเลือกเผชิญความยากลำบากก่อนเพื่อหวังผลที่น่าพอใจภายหลัง เป็นวิธีการใช้ชีวิตที่เหมาะสมที่สุดเท่าที่เราจะทำได้

(2) ความรับผิดชอบ เราไม่อาจแก้ไขปัญหาของชีวิตได้ นอกจากลงมือแก้ไขมัน

(3) ยึดมั่นความเป็นจริง ถ้าเราใช้ความพยายามที่จะชื่นชมและมองเห็นความเป็นจริงมากเท่าไหร่ เราก็จะทำแผนที่ชีวิตของเราได้ใหญ่และแม่นยำขึ้นเท่านั้น

(4) การรักษาความสมดุล ไม่คิดแบบสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง การจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดความสมดุล ระหว่างความต้องการ, ความมั่นคง, และการยืนยันความเป็นตัวเอง คือการยอมสละเรื่องที่เหมาะสมในสถานการณ์ที่เหมาะสมเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งดีกว่าในระยะยาว

ภาคสอง ความรัก (Love) ความรักคือกุญแจสำคัญในการช่วยให้คุณเรียนรู้และพัฒนาตนเอง

การพัฒนาวินัยและความรักอย่างสร้างสรรค์ คือแนวทางสำคัญในการพัฒนาความงอกงามทางจิตใจ

ผู้เขียนนิยามว่าความรัก คือ “ความตั้งใจที่จะขยายตัวตนของเราออกไป เพื่อฟูมฟักดูแลความเจริญงอกงามทางจิตใจของทั้งตัวเราเองและของคนที่เรารัก” โดยเขาได้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เรามักเรียกหรือคิดว่าเป็นความรัก เช่น การตกหลุมรักเมื่อแรกพบ ความรักแบบโรแมนติก หวือหวา การผูกพันทางอารมณ์ ความหลงตัวเอง พึงพอใจในตนเองการเสียสละฯลฯ นั้น ไม่ใช่ความรักที่แท้จริง และความเข้าใจผิดของเราว่าอารมณ์แบบนั้นแบบนี้คือความรัก มีผลต่อความคาดหมาย ต่อความคิดจิตใจ และสภาพชีวิตของเราในทางไม่สร้างสรรค์ หรือก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต ทั้งต่อตัวเราและผู้ที่เราสัมพันธ์ด้วยอย่างไรบ้าง

ความรักเป็นเรื่องของความตั้งใจ ที่ประกอบไปด้วยการเอาใจใส่ การมีวินัย และความกล้าที่จะเผชิญกับความเสี่ยงเช่น การเสี่ยงในการที่จะต้องเป็นฝ่ายสูญเสีย การเสี่ยงในการที่จะเป็นอิสระ ความเสี่ยงในการยึดมั่นพันธสัญญาฯลฯ เพราะชีวิตก็เป็นเรื่องของความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น แต่เป็นความเสี่ยงที่เข้าใจได้และรับได้ คนที่ไม่กล้าเสี่ยงเลย กลายเป็นคนมีปัญหาอีกประเภทหนึ่ง คือ ไม่กล้ารัก ไม่กล้ามีความสัมพันธ์ที่ยึดมั่นในพันธสัญญากับคนอื่น

ความรักยังเป็นเรื่องของการรู้จักพัฒนาตนเองให้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ความรู้สึก มีจิตใจกว้างที่ยอมรับเอกลักษณ์และการเจริญงอกงามทางจิตใจของผู้อื่น ที่อาจจะแตกต่างไปจากเราอีกด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายในชีวิตของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จำนวนมากมาจากการขาดความรักความอบอุ่นที่แท้จริงตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้คนผู้นั้นไม่สามารถที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตดี มีวุฒิภาวะพอที่จะเรียนรู้ที่จะรักตัวเองและรักผู้อื่นได้อย่างแท้จริง คนที่ขาดความรักความอบอุ่นในวัยเด็กหลายคนจึงได้แต่แสวงหาความรัก หรือแสวงหาให้คนอื่นมารักตัวเองโดยไม่อาจจะพานพบได้ เพราะเขาไม่เข้าใจความรักคืออะไร และเขาจะต้องทำอย่างไรจึงจะได้มาซึ่งความรักที่แท้จริง

ผู้เขียน เขียนถึงความรักอย่างเชื่อมโยงกับชีวิตของชีวิตครอบครัว ปัญหาของชุมชนทั้งหมด และช่วยให้ผู้อ่านได้รู้จักเรื่องความรักซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สำคัญที่สุดพฤติกรรมหนึ่งของมนุษย์เรา ได้รู้จักปัญหาทางจิตวิทยาของตนเองและคนรอบข้าง มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความรัก รู้จักที่จะรัก แก้ปัญหาสุขภาพจิต และพัฒนาความเจริญงอกงามทางจิตใจของตัวเองและคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นคู่รัก คู่ครอง ลูก ญาติมิตร เพื่อนฯลฯ ได้เพิ่มขึ้น

การรู้จักความรักอย่างสร้างสรรค์เป็นหัวข้อที่สำคัญมาก แต่ไม่ค่อยมีการสอนการเรียนในเรื่องนี้กัน เรื่องความรักไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของใครของมันเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่มีอิทธิพลต่อชีวิตคนในสังคมอย่างมาก

ในยุคของทุนนิยมข้ามชาติเสรี ที่เน้นการแข่งขันกันหาเงินเพื่อการบริโภค ทำให้คนยุคปัจจุบันเน้นแต่การเรียนรู้เพื่ออาชีพและการหาเงิน และมีค่านิยมเน้นแต่เรื่องการบริโภค การเสพสุข ความสำเร็จส่วนตัว มากกว่าค่านิยมเรื่องอื่นใด ทำให้คนรู้จักที่จะรักตัวเองและรักคนอื่นอย่างสร้างสรรค์น้อยลง เป็นการรักแบบรักวัตถุ รักการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ การเป็นผู้บงการผู้อื่นทำให้คนอื่นต้องพึ่งพา ทำให้สังคมเกิดปัญหาการแก่งแย่งแข่งขัน ความเครียด ความก้าวร้าว ความเกลียดชังมากขึ้น สภาพทางสังคมวัฒนธรรมเช่นนี้เป็นด้านที่เลวและน่ากลัวของการพัฒนาเศรษฐกิจแนวทุนนิยมที่คนมักจะมองข้าม เพราะคนมัวแต่เน้นด้านดีของการพัฒนาเศรษฐกิจตามกระแสทุนนิยม จนไม่สนใจผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรม

หนังสือเล่มนี้พูดถึงความรักในแง่สร้างสรรค์ และปรารถนาดีให้คนอื่นเจริญงอกงาม ช่วยให้แง่คิดหรือมุมมองที่ทำให้คนที่กำลังถูกกระแสวัฒนธรรมที่เน้นแต่เรื่องเงินได้ฉุกคิด มองชีวิตตนเองและคนอื่นอย่างพินิจพิจารณามากขึ้น และได้รับรู้แนวคิดใหม่ ๆ พอที่จะรู้จักมองเห็นเส้นทางที่ต่างไปจากเส้นทางที่คนส่วนใหญ่เดินอยู่โดยในยุคปัจจุบัน

การได้รู้จักและเรียนรู้ที่จะมีความรักอย่างแท้จริง จะเป็นประโยชน์แก่ทั้งตัวผู้อ่านเองและเพื่อนมนุษย์ที่เรามีความสัมพันธ์ด้วย ยิ่งกว่าการแสวงหาเงินทองหรือการเสพสุขทางวัตถุใดๆ

เวลาเกิดวิกฤติการณ์ คนหลายคนที่ไม่รู้จักความรักอย่างแท้จริง หาทางออกด้วยการฆ่าตัวตาย เป็นโรคเครียด โรคประสาท ประกอบอาชญากรรม หรือทำสิ่งที่ทำลายล้างอื่น ๆ การจะหาทางออกจากวิกฤตินี้ได้อย่างแท้จริง จึงคงจะไม่ใช่เรื่องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากเราต้องคิดในเรื่องการช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาชีวิต จิตใจ อารมณ์ความรู้สึกของคนเป็นประเด็นสำคัญด้วย

ผู้เขียนสรุปไว้ในตอนท้ายของหนังสืออย่างน่าสนใจว่า

“การเดินทางไปสู่ความเจริญงอกงามทางจิตใจต้องการความคิดและการกระทำที่กล้าหาญ ริเริ่ม และเป็นอิสระ แม้ว่าจะมีถ้อยคำของศาสดา (ของศาสนาต่าง ๆ) และพลังศรัทธา (grace) คอยช่วยเหลือเราอยู่ แต่เราก็ต้องเดินทางโดยตัวของเราเอง

ไม่มีครูคนไหนสามารถแบกคุณไปได้ ไม่มีสูตรสำเร็จที่เตรียมไว้ล่วงหน้าได้ พิธีการ (rituals) เป็นแต่เพียงอุปกรณ์ช่วยในการเรียนรู้ ไม่ใช่ตัวการเรียนรู้ การสวดมนต์ การไปโบสถ์ การกินอาหารมังสวิรัติ การทำวิปัสสนานั่งสมาธิฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่สามารถพาคุณไปสู่จุดมุ่งหมายได้ คุณจะต้องไปด้วยตัวของคุณเอง ด้วยการใช้ชีวิตทั้งหมดของคุณเอง

ไม่มีถ้อยคำใด ๆ ไม่มีคำสอนใด ๆ ที่จะช่วยให้นักเดินทางแสวงหาความเจริญงอกงามทางจิตใจโดยไม่ต้องเลือกหนทางเดินเองได้ เขาจะต้องฟันฝ่าด้วยความอุตสาหะและด้วยความกังวลบนเส้นทางของเขาเอง ผ่านสถานการณ์เฉพาะที่เป็นชีวิตของเขาเอง เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของเขาแต่ละคน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

2leep.com