โดยหลังเกิดเรื่อง สหรัฐพยายามออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าไปสอดแนมโซเวียต แต่ในที่สุดก็ต้องยอมจำนนกับหลักฐาน ทั้งซากเครื่องบิน และนักบินตัวเป็นๆที่ถูกจับได้
โลกรู้จักเหตุการณ์ครั้งนี้ในชื่อ "U-2 incident" โดยตัวเอกของเหตุการณ์ดังกล่าวมีชื่อว่า ฟรานซิส แกรี่ เพาเวอร์ส
ฟรานซิส แกรี่ เพาเวอร์ส เกิดเมื่อ 17 สิงหาคม 1929 ที่เคนตักกี้ ต่อมาเข้ารับราชการในกองทัพอากาศสหรัฐ และได้เป็นนักบินเครื่องบินรบ ได้เข้าร่วมในสงครามเกาหลี แต่ต่อมาถูก CIA เรียกใช้บริการเพราะมีประวัติในระดับดีเยี่ยมในการขับเครื่องบินเครื่องยนต์เดี่ยว ก็เลยปลดออกจากกองทัพอากาศในปี 1956 ขณะมียศเป็นเรืออากาศเอก
เมื่อมาอยู่กับ CIA ได้เข้าร่วมในโครงการ U-2 ที่เป็นเครื่องบินที่สามารถบินได้สูงถึง 7 0,000 ฟุต ซึ่งสูงเกินกว่าที่อาวุธต่อสู้อากาศยานโซเวียตในยุคนั้นจะสอยได้ เครื่องบินรุ่นนี้ ยังติดกล้องชั้นเยี่ยม สามารถถ่ายภาพจากระดับสูงลิบลิ่ว แต่ให้ภาพที่มีรายละเอียดสูง มันจึงได้ชื่อว่า "spy-in-the-sky"
ข้อมูลส่วนหนึ่งบอกว่าอันที่จริง โซเวียตรู้เรื่องโครงการ U-2 ของสหรัฐมาตั้งแต่ปี 1956 แต่ไม่มีปัญญาจะทำอะไรกับมันได้ เพราะไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะไปจัดการกับเครื่องบินรุ่นนี้ได้ แต่ในที่สุดในปี 1960 พวกเขาก็พัฒนาอาวุธที่จะจัดการกับ U-2 ได้สำเร็จ นั่นก็คือขีปนาวุธแบบพื้นสู่อากาศ S-75 Dvina
ก่อนหน้าที่จะเกิดเรื่อง สหรัฐส่งเครื่องบิน U-2 เข้าไปปฏิบัติการณ์สอดแนมในโซเวียตแค่ครั้งเดียว คือเมื่อ 9 เมษายน 1960 ซึ่งก็ประสบกับความสำเร็จงดงาม เมื่อสามารถบินผ่านเขตของโซเวียตเป็นระยะทางถึง 250 กิโลเมตร ซึ่งระหว่างนั้น โซเวียตก็พยายามส่งเครื่องบินรบเข้าสกัด แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
หลังเกิดเรื่อง โซเวียตก็ออกมาโวยวายเป็นการใหญ่ แต่สหรัฐก็ไม่ได้สนใจอะไร และวางแผนจะส่งเครื่องบินเข้าไปสอดแนมในโซเวียตอีกครั้งในอีกไม่กี่วันถัดมา และนั่นก็เป็นที่มาของเหตุการณ์ "U-2 incident"
ในวันที่เกิดเหตุ ฟรานซิส แกรี่ เพาเวอร์ส นักบินสหรัฐ ได้นำเครื่องบินออกจากฐานในปากีสถาน เพื่อปฏิบัติการณ์ลับให้กับหน่วย CIA โดยภารกิจของเขาคือการถ่ายภาพโครงการนิวเคลียร์ของโซเวียต แต่เครื่องบินของเขาถูกอาวุธร้ายของโซเวียตยิงตกใกล้กับเมืองสเวียร์ดลอฟส์ค ในเขตเทือกเขาอูราล หรือปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น เยคาเตรินบูร์ก
เพาเวอร์ส สามารถกระโดดร่มออกมาได้ แต่ไม่สามารถเปิดระบบทำลายเครื่องบิน ต่อมาเขาถูกโซเวียตจับ และโซเวียตก็ได้ข้อมูลทุกอย่างที่ต้องการ ทั้งซากเครื่องบินของข้าศึก และข้อมูลสิ่งที่ข้าศึกต้องการสอดแนม
หลังจากที่เครื่องบินหายไปในเขตรัสเซีย และยังไม่รู้ว่าโซเวียตจับนักบินได้ รวมทั้งได้ข้อมูลสำคัญไปทั้งหมดแล้ว สหรัฐได้ออกประกาศเครื่องบินสำรวจอากาศของพวกเขาหายไป
เมื่อถูกจับได้ นักบินก็ถูกรีดข้อมูลอย่างหนักตามสไตล์อยู่นานเป็นเดือน ซึ่งในที่สุดเขาก็ยอมรับสารภาพ และยอมออกมากล่าวคำขอโทษต่อชาวโซเวียตสำหรับการเข้าร่วมในการจารกรรม เรื่องนี้สร้างความเสียหน้าให้กับสหรัฐอย่างมาก
การไม่ยอมขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้นของฝ่ายสหรัฐ ทำให้การประชุมสุดยอดเพื่อเจรจาเรื่องสันติภาพ ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันระหว่างไอเซนฮาวร์กับครุชชอฟ ต้องล้มทันที
พอถึงวันที่ 17 สิงหาคมปีนั้น เพาเวอร์ส ก็ถูกศาลโซเวียตจำคุกรวม 10 ปี โดยในจำนวนนั้นเป็นการจำคุกในค่ายกักกันแรงงานถึง 7 ปี เขาถูกส่งไปจองจำอยู่ที่คุกวลาดิมีร์สกี้ ทางตะวันออกของเมืองหลวง ซึ่งมีรายงานว่าเขาเข้ากับเพื่อนนักโทษชาวโซเวียตที่นี่ได้ดี
แต่ 10 กุมภาพันธ์ 1962 เขาได้รับอิสรภาพ หลังจากทั้งสองประเทศตกลงแลกเปลี่ยนสายลับกันที่พรมแดนระหว่างเยอรมันตะวันออกและตะวันตก งานนี้ โซเวียตได้ตัวรูดอล์ฟ อาเบล สายลับคนดังของพวกเขากลับคืน
เมื่อกลับมาถึงสหรัฐ ตอนแรกนักบินก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เรื่องที่ไม่ยอมทำลายเครื่องบิน รวมทั้งกล้อง และฟิล์ม จนทำให้ฝ่ายโซเวียตจับได้ว่าเข้าไปสอดแนม รวมทั้งยังโดนต่อว่าที่ไม่ยอมฆ่าตัวตายเพื่อปกปิดความลับ แต่หลังการสอบสวน ทางการก็สรุปออกมาว่า นักบินได้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกอย่างแล้ว และไม่ได้เปิดเผยข้อมูลสำคัญอะไรออกไป
หลังเสร็จเรื่อง ในปี 1963 เขาหันมาทำงานเป็นนักบินทดสอบของบริษัทล็อคฮีต แต่พอถึงปี 1970 เขาก็เขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อ Operation Overflight: A Memoir of the U-2 Incident แล้วก็เลยโดนไล่ออก เพราะกระแสตอบรับจากทางผู้อ่านออกมาในแนวด่าเขามากกว่า เพาเวอร์ก็เลยหันมาทำงานเป็นผู้สื่อข่าวรายงานการจราจรจากทางอากาศให้สถานีวิทยุแห่งหนึ่ง ก่อนจะย้ายไปขับเฮลิคอปเตอร์ติดกล้องสำหรับรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์อีกแห่ง
เพาเวอร์ส วัย 48 ได้เสียชีวิตไปในปี 1977 เมื่อเฮลิคอปเตอร์ของเขาเกิดน้ำมันหมดระหว่างการรายงานข่าวไฟป่า และศพได้รับเกียรตินำมาฝังท่สุสานแห่งชาติอาร์ลิงตัน ในฐานะทหารผ่านศึก
จนถึงปัจจุบัน รัสเซียก็ยังคงมองว่า การยิงเครื่องบินลำนี้ตกเป็นชัยชนะ โดยมีการนำซากเครื่องบินไปตั้งแสดงที่ Central Armed Forces Museum พิพิธภัณฑ์การทหารหลักที่กรุงมอสโก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น