2554-08-16

ปัจเจกชนไม่ได้หมุนตามกระแสของโลก แต่พวกเขาหมุนโลกใบนี้อยู่ต่างหาก : ปัจเจกชนมีจุดยืน ชอบกินข้าวขาหมู และหมุนโลก‏




ปัจเจกชน หรือ ปัจเจกบุคคล คือใคร ?

"ปัจเจก" (individual) แปลว่า เฉพาะตัว,เฉพาะบุคคล เพราะฉะนั้น "ปัจเจกชน" ก็คือ บุคคลที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร มันไม่ได้หมายถึงรูปร่าง หน้าตา หรือความสามารถพิเศษอะไร สิ่งที่เฉพาะตัวในที่นี้คือ ความคิดเห็น ,ความชอบส่วนตัว,จุดยืนหรือหลักการ เป็นต้น

ข้อเท็จจริงก็คือ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่คนแต่ล่ะคนจะมีความคิดเห็นและทัศนคติที่ตรงกันในทุก ๆ เรื่องที่พวกเขาสนใจอาจจะกล่าวได้ว่า คนทุกคนบนโลกนี้ล้วนเป็นปัจเจกชน เพียงแต่จะเป็น "ปัจเจกชนซ่อนรูป" หรือ "ปัจเจกชนแท้จริง"

ผมขอยกตัวอย่างสักตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่าผมไปกินข้าวกับเพื่อน ๆน่ะครับ และผมอยากกินข้าวขาหมู แต่มีเพื่อนในกลุ่มคนหนึ่งไม่ชอบกินข้าวขาหมู อันนี้ล่ะ "ความขัดแย้ง" มาแล้ว แต่สิ่งที่เพื่อนทุกคนรวมทั้งผมต้องการเหมือน ๆกันก็คือ "ความอร่อย" และ "ความอิ่ม" ในขณะที่เพื่อนคนอื่นในกลุ่มนั้น บางคนอาจจะชอบกินข้าวขาหมูเหมือนผม หรือบางคนอาจจะไม่ชอบ แต่พวกเขาก็อาจจะมองไปที่จุดหมายของการกินครั้งนี้มากกว่านั่นคือ "ความอร่อย" หรือ " ความอิ่ม" หรือทั้งสองอย่าง

ทางเลือกที่มีก็คือ 1. ผมเสียสละ 2. เพื่อน(ที่ไม่ชอบกินขาหมู)เสียสละ 3. เพื่อน(คนเดิม)ไปซื้ออาหารอย่างอื่นมากินกับพวกเรา 4.เปลี่ยนร้านและผมไปซื้อข้าวขาหมูมากินกับเพื่อน ๆ 5. ผมกับเพื่อนทะเลาะกันทำให้กินอะไรก็ไม่อร่อยในมื้อนั้น จะเห็นว่าทางเลือกที่ 3 และ 4 น่าสนใจ ทั้งยังไม่ต้องมีคน"เสียสละ" แต่...คนไทยเรามักจะเกรงใจผู้อื่น หลายคนอาจจะคิดว่ามันก็ไม่ได้เสียหายอะไรนี่นาถ้าจะเลือกข้อ 1 หรือข้อ 2 ....ก็แค่อาหาร มื้อเดียว

จากตัวอย่างที่ผ่านมา มันเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และไม่ส่งผลกระทบอะไรร้ายแรงมากนัก แต่ถ้าผมจะยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติคุณกำลังมีแฟนอยู่ในขณะที่คุณอยู่ม. 6 และกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย คุณชอบวิศวะฯ แต่แฟนชอบนิเทศฯ แต่แฟนคุณดันเรียนเก่งกว่าคุณมาก ๆ เธอสอบเข้ามหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศ แต่คุณคิดว่ายังไงคุณก็ไม่มีทางสอบเข้ามหาวิทยาลัยเดียวกับเธอได้แน่(ในคณะวิศวะฯ) คุณจึงเลือกคณะอื่นที่มีคะแนนต่ำกว่าและมั่นใจว่าติดชัวร์ ๆ เพื่อจะได้เข้ามหาวิทยาลัยเดียวกับเธอ ลองย้อนกลับไปดูตัวอย่างที่แล้วเรื่อง"ข้าวขาหมู" ในกรณีนี้คุณเลือกข้อ 1 แต่สิ่งที่คุณต้องสูญเสียก็คือ "อนาคตของตัวคุณเอง" ไม่ใช่แค่ "ความอร่อย" และ "ความอิ่ม" ต่อมาใครจะรู้ว่า คุณจะชอบคณะที่เรียนหรือไม่ คุณจะจบหรือไม่ แฟนคุณอาจจะทิ้งคุณเพราะคุณ "สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง" ก็เป็นได้ นั่นเป็นแค่สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น (แต่คุณคงไม่อยากให้มันเกิดขึ้นใช่มั้ย ?)

สังคม

สังคมเป็นสิ่งที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ชอบความแตกต่าง

"สังคม" เป็นเหมือน"ลมและฝน"ที่คอยชะล้างและเกลี่ยหน้าดินให้เรียบ

"สังคม" ขีดเส้นและสร้างกฏเกณฑ์ที่มองไม่เห็นชี้นำและยับยั้งเรา

"สังคม" ยังชอบหยุดยั้งความคิดสร้างสรรค์ด้วยในหลาย ๆครั้ง

แต่ "สังคม" ก็ยกย่องในสิ่งที่โดดเด่นและแตกต่าง(ที่ประสบความสำเร็จ)ด้วยเช่นกัน

"สังคม" เป็นเหมือนดาบสองคม !

ปัจเจกชน vs ปัจเจกชน !!!

แล้วถ้าปัจเจกชนมาเจอกับปัจเจกชนล่ะ ? เขาจะเป็นเพื่อนกันได้หรือไม่ คำตอบนี้อยู่ใน "เรื่องข้าวขาหมู" อีกแล้ว ลองดูตัวเลือกที่ 3 และ 4 ซิครับ จะเห็นว่าเรายังสามารถรักษา "ตัวตนของเรา" ได้โดยไม่เสียความสัมพันธ์กับเพื่อน

ปัจเจกชน vs คนเห็นแก่ตัว !!!

บุคคลสองลักษณะนี้ ถ้ามองไม่ดีอาจจะมีความคล้ายคลึงกันกล่่าวคือ มีความเป็นตัวของตัวเอง สนใจประโยชน์ของตัวเอง แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ ปัจเจกชนนั้นจะสนใจและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย ในการพยายามที่จะสนองความต้องการ/รักษาตัวตนหรือจุดยืนของตัวเอง แต่จะไม่มีสิ่งนี้ให้เห็นสำหรับ "คนเห็นแก่ตัว"



ลัทธิปัจเจกชนนิยม (individualism)

ลัทธินี้ถูกมองในด้านลบว่าเป็นพวกเอาตนเองเป็นจุดศูนย์กลางโลก ให้ความสำคัญกับตัวเองก่อนสิ่งอื่นใด,เชื่อมั่นในความคิดของตนเอง, รักอิสระจนอยู่เหนือกรอบและกฏเกณฑ์ต่าง ๆของสัมคม มีทั้งการแสดงออกต่อสังคม ครอบครัว การเมือง และอื่น ๆ และบางครั้งยังถูกมองว่าเป็น "พวกเห็นแก่ตัว" อีกด้วย แต่ในขณะเดียวกันผู้นำหรือผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตหลาย ๆ คน มีคุณลักษณะนี้เช่นกัน

ตัวอย่างปัจเจกชน






Steve Jobs ซีอีโอผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัท Apple Inc. เขากับเพื่อนก่อตั้งบริษัทโดยเริ่มจากโรงรถที่บ้านในปี 1976 หลังจากนั้นอีกหนึ่งปี จอบส์ได้เปิดตัว Apple II เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายเครื่องแรกของโลก (ถือว่าล้ำสมัยมากเพราะสมัยนั้นมีแต่เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่ ๆที่เรียกว่า 'mainframe') ด้วยแนวคิดที่ว่า คน(ธรรมดา)ทุกๆคนสามารถจะใช้งาน(และซื้อหา)คอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวันได้ ต่อมาในปี 1985 จอบส์ถูกบีบบังคับให้ลาออกจากบริษัทที่เขาก่อตั้ง เนื่องจากถูกบีบจากคณะกรรมการบริหารของบริษัท แต่หลังจากจอบส์ลาออก กิจการของ Apple Inc. ก็เริ่มตกต่ำลง จนในปี 1995 จอบส์เคยกล่าวว่า 


You know, I've got a plan that could rescue Apple. I can't say any more than that it's the perfect product and the perfect strategy for Apple. But nobody there will listen to me.
-- Fortune, Sept. 18, 1995 



แต่ในปี 1996 Apple Inc. ได้ซื้อบริษัท NeXT--บริษัทที่จอบส์ก่อตั้งหลังจากลาออก และได้แต่งตั้งให้จอบส์กลับมาเป็นซีอีโอของบริษัทอีกครั้ง หลังจากนั้น Apple Inc. ก็กลับมาผงาดอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวระบบปฏิบัติการ Mac OS X ซึ่งพัฒนามาจาก NeXTSTEP ของบริษัท NeXT ในช่วงหลังยังมีผลิตภัณฑ์หลายตัวที่โด่งดังและทำรายได้ให้บริษัทเช่น iPod , iPhone หรือล่าสุดผลิตภัณฑ์อย่าง iPad ก็ได้รับคำชมอย่างล้นหลาม นับได้ว่า Apple Inc. มีผลิตภัณฑ์หลายตัวที่เป็นผู้นำตลาดมือถือ,แท็บเล็ต,เครื่องเล่นมัลติมีเดียแบบพกพาและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล รวมทั้งซอฟท์แวร์อื่น ๆ อีกด้วย

Steve Jobs ถูกวิพากษ์วิจารย์เรื่องบุคลิกภาพที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร เขามีสไตล์การแต่งตัวแบบเฉพาะตัวด้วยการใส่เสื่อยืดแขนยาวสีดำและใส่กางเกงยีนส์ เขายังนับถือพุทธศาสนาและเป็นมังสวิรัติปลา





Elvis Presley เขาถูกขนานนามว่า "ราชาแห่งดนตรี Rock & Roll" เพลงของเขาขายได้หลายล้านแผ่นทั่วโลก ซึ่งนับว่าเขาเป็นศิลปินเพลงป็อปอันดับหนึ่งในช่วงชีวิตของเขาขณะนั้น ช่วงแรกในการก้าวเข้าสู่เส้นทางนักร้องอันโด่งดังนั้น เพรสลีย์ถูกมองว่าเป็นนักร้องที่แปลกกว่าคนอื่น ๆเช่น การขับร้องเพลงที่น้ำเสียงของเขาปรับเปลี่ยนได้หลายระดับ การแต่งตัว ทรงผม และท่าเต้นที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร แต่สิ่งนี้เองที่ทำให้เขาดังเป็นพลุแตก เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ 14 ครั้ง ซึ่งเขาได้รับรางวัล 3 ครั้ง


>>เคยมีคนถามเขาว่าเขาร้องเพลงเหมือนใคร เพรสลีย์ก็ตอบกลับไปว่า "ผมไม่ได้ร้องเหมือนใคร"<<


บทสรุป

ปัจเจกชนคือใครก็ตามที่มีจุดยืนหรือหลักการเป็นของตัวเอง แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า "ปัจเจกชนทุกคนคือคนดี" มันขึ้นอยู่กับ "จุดยืน" หรือ "หลักการ" ที่ปัจเจกชนผู้นั้นยึดถืออยู่ ถ้าเคยได้ยินเรื่อง "องคุลีมาล" จะเข้าใจได้อย่างแจ่มชัดว่า ถ้าหลักการที่เขา "เชื่อ" นั้นมันผิด มันก็จะก่อให้เกิดผลอันเลวร้ายตามมา แต่ในทางกลับกันถ้า จุดยืน/หลักการ ที่เราเชื่อมั่นนั้นถูกต้อง มันย่อมจะส่งผลดีต่อตัวเราและสังคมอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ถ้ามั่นใจว่าเป็นปัจเจกชนที่ยึดถือจุดยืน/หลักการที่ดีก็ควรจะแสดงตัวตนของคุณออกมา--อย่ากลัวว่าคนอื่น/สังคมจะไม่ยอมรับคุณ เพื่อเปลี่ยนแปลง-ขับเคลื่อนโลกใบนี้ให้ดีขึ้น ที่สำคัญก็คือ "อย่าลืมตรวจสอบจุดยืน/หลักการที่ท่านยึดถือ" ก็พอ

>>ปัจเจกชนไม่ได้หมุนตามกระแสของโลก แต่พวกเขาหมุนโลกใบนี้อยู่ต่างหาก<<




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

2leep.com