2554-08-24

เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน



"ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง
ฉันจึงมาหาความหมาย
ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว "

เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน หรือที่นิยมเรียกว่า ฉันจึงมาหาความหมาย เป็นกลอนที่มีชื่อเสียงชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อเขียนหนึ่งในหลายชิ้น ที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา "หัวก้าวหน้า" ยุคก่อนและหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งต่อมาได้พัฒนาไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตย ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เนื้อหาของกลอนสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของนักศึกษาคนหนึ่ง ซึ่งตั้งคำถามเชิงเสียดสีเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาในมหาวิทยาลัย

กลอนชิ้นนี้แต่งโดย วิทยากร เชียงกูล เมื่อสมัยยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่งขึ้นสำหรับ วันสถาปนาธรรมศาสตร์ ใน พ.ศ. 2511 ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ยูงทอง เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2511 และถูกตีพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง ในหนังสือชื่อ "ฉันจึงมาหาความหมาย" ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานจำพวกบทกวีของวิทยากรในช่วงสมัยที่ยังศึกษาอยู่และช่วงที่เพิ่งจบ



เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน

"ดอกหางนกยูงสีแดงฉาน
บานอยู่เต็มฟากสวรรค์
คนเดินผ่านไปมากัน
เขาดั้นด้นหาสิ่งใด"

ปัญญามีขายที่นี่หรือ
จะแย่งซื้อได้ที่ไหน
อย่างที่โก้หรูหราราคาเท่าใด
จะให้พ่อขายนามาแลกเอา

ฉันมาฉันเห็นฉันแพ้
ยินแต่เสียงด่าว่าโง่เขลา
เพลงที่นี่ไม่หวานเหมือนบ้านเรา
ใครไม่เข้าถึงพอเขาเยาะเย้ย

นี่จะให้อะไรกันบ้างไหม
มหาวิทยาลัยใหญ่โตเหวย
แม้นท่านมิอาจให้อะไรเลย
วานนิ่งเฉยอย่าบ่นอย่าโวยวาย

ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง
ฉันจึงมาหาความหมาย
ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว

มืดจริงหนอสถาบันอันกว้างขวาง
ปล่อยฉันอ้างว้างขับเคี่ยว
เดินหาซื้อปัญญาจนหน้าเซียว
เทียวมาเทียวไปไม่รู้วัน

"ดอกหางนกยูงสีแดงฉาน
บานอยู่เต็มฟากสวรรค์
เกินพอให้เจ้าแบ่งปัน
จงเก็บกันอย่าเดินผ่านเลยไป!"

วิทยากร เชียงกูล



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

2leep.com