พิจารณาก่อนแล้วจึงทำ หรือใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
นี้เป็นพุทธศาสนาภาษิตที่ผู้ปรารถนาความสามัคคีพึงน้อมนำไปปฏิบัติตาม
พิจารณาก่อนแล้วจึงทำ หรือใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
ทำในที่นี้หมายถึง การกระทำทั้งทางกาย ทั้งทางวาจาและทั้งทางใจ
คือจะทำอะไรก็ตาม จะพูดอะไรก็ตาม จะคิดอะไรก็ตาม
พึงพิจารณาใคร่ครวญเสียก่อน
อย่าทำ อย่าพูด อย่าคิด โดยไม่พิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบด้วยดี
เพราะการทำ การพูด การคิดโดยไม่พิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบด้วยดี
เพราะการทำ การพูด การคิดโดยไม่พิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบ
ย่อมเกิดความผิดพลาด
อันจะให้ผลที่ไม่ดี ที่เป็นภัย ที่เป็นโทษได้โดยง่าย
นี้มีตัวอย่างปรากฏให้เห็นอยู่แล้วเสมอ ทั้งในอดีต ทั้งในปัจจุบัน
ทั้งที่เป็นเรื่องของตนเอง และทั้งที่เป็นเรื่องของคนอื่น
แต่แม้กระนั้นส่วนมากก็ไม่เห็นโทษของการไม่พิจารณาก่อนแล้วทำ
ยังมักพากันทำไปตามอำนาจความปรารถนาพอใจชั่วแล่น
ความเสียหายอันเกิดจากการทำเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นอยู่เป็นอันมาก และเสมอ
การพิจารณาหรือการใคร่ครวญ คือการใช้สติปัญญาดูเหตุดูผลให้รอบคอบ
ทำอย่างไรจะให้ผลดี ทำอย่างไรจะให้ผลเสีย
พิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบจริงๆ เมื่อแน่ใจแล้วว่าทำเช่นใดจึงจะได้ผลดี
จึงทำเช่นนั้น เมื่อไม่แน่ใจ พึงใช้สติปัญญาหลีกเลี่ยงเสีย อย่าทำ
นอกเสียจากว่าจะปรารถนาให้ผลร้ายเกิดขึ้น
ซึ่งความปรารถนาหรือความมุ่งตั้งใจเช่นนั้นเป็นเหตุไม่ดี
เป็นกรรมทางใจที่ไม่ดี ดังนั้นผลที่ไม่ดีที่จะเกิดขึ้นจึงจะเป็นของผู้อื่นก็หาไม่
จะต้องเป็นของผู้ทำกรรมไม่ดีนั้นเอง
เพราะกรรมนั้นย่อมให้ผลแก่ผู้กระทำแน่นอนเสมอไป
ผู้ไม่ทำกรรมใดไว้จะได้รับผลของกรรมนั้นหามีไม่
ผู้มาบริหารจิตพึงอบรมจิตใจให้เชื่อมั่นในสัจจะนี้
แล้วผลดีที่จะเกิดตามมาจักเป็นของตนเองก่อนผู้อื่น
ปุถุชนหรือสามัญชนย่อมยังยินดีในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
อันเป็นโลกธรรม ฝ่ายที่น่ายินดีพอใจ
แต่ถ้าความปรารถนายินดีในโลกธรรมดังกล่าวแรงเกินขอบเขตไป
ก็จะทำให้ไปตัดรอนความแรงแห่งแสงสว่างของปัญญาให้ลดน้อยลง
จนถึงทำให้มืดมิดไปได้ในบางเวลา
และเมื่อปัญญาอ่อนแสงลง
ก็มีปัญญาน้อยหรือไม่มีปัญญาเลยที่จะพิจารณาใคร่ครวญก่อนจะทำสิ่งทั้งปวง
การกระทำสิ่งทั้งปวงจึงเกิดโทษได้ง่าย
ดังนั้น แทนที่จะได้รับโลกธรรมส่วนที่ไม่ดีไม่น่าปรารถนาพอใจ
ผู้ที่มุ่งปรารถนาแรงเกินไปจึงมักไปได้รับโลกธรรมส่วนที่ไม่ดี
ที่ไม่น่าปรารถนาพอใจเสียเป็นส่วนมาก
นี้เป็นเพราะขาดปัญญาที่จะนำมาใช้พิจารณาใคร่ครวญก่อนทำการใดๆ นั่นเอง
ดังนั้นการมุ่งปรารถนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างรุนแรงจึงมีโทษ
ทำให้สติปัญญาอ่อนลง และสติปัญญานั้นเป็นสิ่งจำเป็นทุกเมื่อของทุกคน
ขาดสติและปัญญาเสียแล้ว ความสมบูรณ์ทางจิตใจย่อมเกิดขึ้นไม่ได้
สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารจิตควรทำจึงต้องเป็นการอบรมจิตใจ
ให้สามารถควบคุมความปรารถนาต้องการให้อยู่ในขอบเขตที่สมควร
นั่นคือ อบรมจิตใจให้มีเวลาสงบไว้บ้างเสมอ
ไม่แล่นแรงไปในทางแสวงหา ลาภ ยศสรรเสริญ สุข ให้แก่ตนจนเกินไป
เตือนตนเองไว้ให้เสมอว่านั่นเป็นกิเลสและกิเลสนั้นมีน้อยเท่าใดให้คุณเท่านั้น
มีมากเท่าใดให้โทษเท่านั้น
ไม่มีผู้ใดหนีโทษของกิเลสในจิตใจตนเองพ้น
เพราะเมื่อกิเลสปรากฏออกมาในการพูดการทำเพียงใด
ก็จะรับเอาทุกข์โทษเข้าไปใส่ตนเพียงนั้น กิเลสมากปัญญาก็น้อย
เหตุผลก็น้อย ความสามารถที่จะพิจารณาใคร่ครวญก็ต้องน้อยตามไปด้วย
ผู้ที่สามารถลดกิเลสในใจตนได้มากเพียงใด
แสงแห่งปัญญาของผู้นั้นย่อมสว่างไสวขึ้นเพียงนั้น
ย่อมสามารถน้อมนำพุทธศาสนภาษิตที่ว่า
พึงพิจารณาก่อนแล้วจึงนำไปปฏิบัติตาม
ให้เกิดความสวัสดีแก่ตนเองและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายได้เพียงนั้น
ที่มา… การบริหารทางจิต สำหรับผู้ใหญ่ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น