2554-12-07

Catherine Gildiner มนุษย์ทุกคนต่างล้วนไม่แตกต่าง


Catherine Gildiner มีอาชีพเป็นจิตแพทย์ผู้ใช้เวลาทั้งวันและทุกวันไปกับการรับฟังเรื่องราวต่างๆ ที่พรั่งพรูจากปากคนไข้ 

แต่แล้ววันหนึ่งนักข่าวสาววัย 19 ก็กระตุ้นเธอราวสายฟ้าฟาดด้วยคำถามทำนองว่าในช่วงเวลาหลายต่อหลายปีที่เธอเป็นจิตแพทย์นั่งประจันหน้ากับบรรดาคนไข้ เธอไม่เคยต้องการพูดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับว่า เธอเป็นใคร หรือเพียงแต่ต้องการเป็นผู้รับฟังเพียงอย่างเดียวกระนั้นหรือ 

มันทำให้แคทเธอรีนหวนนึกถึงเวลา 25 ปี ที่ผ่านมาซึ่งเธอใช้เวลาวันละ 8 ชั่วโมงกับตัวตนที่เงียบงัน.... 

“นักข่าวคนนั้นพูดถูก ฉันใช้เวลาเหล่านั้นไปกับการรับฟังทุก ๆ ถ้อยคำของผู้คนที่พูดเกี่ยวกับตัวเขา... ซึ่งฉันไม่เคยแสดงและมีความรู้สึกกับตัวของฉันเลย งานของฉันคือการช่วยให้คนไข้ได้เข้าใจตัวตนของพวกเขา โดยต้องทำตัวเองให้ว่างเปล่าและเป็นอย่างที่พวกเขาต้องการให้เป็น ฉันเปรียบตัวเองเสมือนมนุษย์ฟองน้ำสวมสูทสีน้ำตาลผู้นั่งตรงข้ามกับพวกเขา และพร้อมที่จะดูดซับจิตวิญญาณที่หลอมละลายของพวกเขาเหล่านั้น” 

จากวันนั้นแคทเธอรีนเริ่มนึกถึงการเขียนบันทึก เธอจึงทิ้งตัวตนจิตแพทย์หญิงไว้เบื้องนอก ขังตัวเองไว้บนชั้นสามของบ้าน และลงมือเขียนบันทึกชีวิตเล่มแรก นำเสนอเรื่องราวชีวิตตั้งแต่วัย 4 ขวบ จนถึง 13 ขวบ 
ถ้อยคำมากมายหลั่งไหลพรั่งพรูราวทำนบกั้นได้ถูกตีแตกยับ 7 เดือนต่อมาบันทึกเล่มแรกToo Close to The Falls ก็เสร็จสิ้น 

แคทเธอรีน ประหลาดใจมากเมื่อสำนักพิมพ์รับซื้อทันที และแปลกใจซ้ำสองเมื่อหนังสือติดอันดับขายดียอดเยี่ยม ได้รับการนำเสนอเข้าชิงรางวัลต่าง ๆ และที่สุดก็คว้ารางวัล the Different Drummer ของแคนาดา และแน่นอน After the Falls หนังสือเล่มที่ 2 อันเป็นบันทึกชีวิตช่วงวัย 14 ขวบเป็นต้นก็ตามมา เธอยอมรับว่าอาชีพจิตแพทย์ได้เกื้อหนุนการเขียนอย่างมาก มันทำให้เธอรู้สึกและเข้าใจธรรมชาติมนุษย์มากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อมาเขียนบันทึกชีวิตทำให้เธอเขียนถึงความจริงเกี่ยวกับตัวเองได้อย่างอิสรเสรี ประสบการณ์จากการฟัง สอนให้รู้ว่ามนุษย์ทุกคนต่างล้วนไม่แตกต่าง และไม่มีเรื่องใดที่จะพิลึกพิลั่นไปกว่ากัน 


สำหรับเคล็ดไม่ลับในการเขียนหนังสือแนวบันทึก แคทเธอรีนแนะนำว่าไม่จำเป็นที่นักเขียนจะต้องจดจำทุก ๆ รายละเอียดในชีวิตได้ทั้งหมด และยอมรับว่าทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องน่าเบื่อ ยกตัวอย่างจากหนังสือของเธอ เธอเขียนเพียง 12 เหตุการณ์ (ซึ่งคนทั่วไปก็สามารถจดจำได้ประมาณนี้) แล้วนำมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันโดยใช้ตัวละครต่าง ๆ 

แล้วจะนำเหตุการณ์ไหนมาเขียนดีล่ะ ? จากประสบการณ์จิตแพทย์ แคทเธอรีนบอกเราว่ามีหลายช่วงขณะที่คนเราจดจำได้ หากคุณถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ คุณก็อาจจะเขียนบันทึกสักเล่มก็เป็นได้ 

1.ความทรงจำที่เป็นแผลลึก สุดบอบช้ำ 
2.ครั้งแรกที่คุณตระหนักได้ว่าไม่มีที่ใดในโลกเสมือนบ้านของคุณ 
3.ครั้งแรกที่คุณตระหนักได้ว่าพ่อแม่ไม่ใช่ฝ่ายถูกเสมอไป 
4.ความทรงจำของเซ็กซ์ครั้งแรก 
5.ความทรงจำเรื่องความก้าวร้าวครั้งแรก 

นอกจากข้างต้นแล้วคุณอาจถามคำถามสำคัญเกี่ยวกับความสนุกสนาน ความเศร้าโศก และช่วงขณะที่คุณรู้สึกว่าเติบโตในชีวิตประกอบด้วยก็ได้ 

ส่วนคำแนะนำทั่วไปสำหรับนักเขียนใหม่ คือ อย่าสนใจท่าทีแง่ลบที่ได้รับนอกเสียจากว่าเป็นเรื่องสร้างสรรค์ หาที่ไหนก็ได้ตีพิมพ์ อย่าห่วงเรื่องเม็ดเงิน จงรับอาสาเขียนงานอะไรก็ได้ แล้วหนทางจะดีขึ้น หากคุณต้องการเขียน จงเขียนทุกๆ วัน ไม่ต้องรอคอยแรงบันดาลใจ 

เพราะมันเป็นเรื่องยาก งานเขียนเป็นงานที่มีวินัย เขียนให้มากๆ ฝึกฝนฝีมือ มองหาสำนักพิมพ์แล้วลองส่งผลงาน 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

2leep.com