2554-07-31

เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว : Butterfly Effect


“เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” เป็นการตีความในแง่ธรรมชาติ ความหมายโดยสรุปคือ “การทำลายธรรมชาติแม้เพียงเล็กน้อย จะส่งผลกระทบถึงทั้งโลกที่เราอยู่” เป็นวลีที่ขยายความมาจาก “ทฤษฎีความอลวน-chaos theoryทั้งนี้ คำ “chaos” (เค-ออส) เป็นศัพท์บัญญัติของนักคณิตศาสตร์ประยุกต์ชาวอเมริกัน เจมส์ เอ ยอร์ค ซึ่งอธิบายถึงลักษณะพฤติกรรมของระบบพลวัต (คือระบบที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น เปลี่ยนแปลงตามเวลาที่เปลี่ยนไป)

จุดเริ่มต้นของทฤษฎีเคออส สืบย้อนไปได้ถึง ค.ศ.1900 โดยมีนักวิทยาศาสตร์นักคณิตศาสตร์เกี่ยวข้องจำนวนไม่น้อย เริ่มจากการศึกษาปัญหาวงโคจรของวัตถุสามชิ้นในสนามแรงดึงดูดระหว่างกัน ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า ปัญหาสามวัตถุ โดย อองรี ปวงกาเร ซึ่งได้ค้นพบว่า วงโคจรที่ศึกษานั้นอาจจะมีลักษณะที่ไม่ได้เป็นวงรอบ คือไม่ได้มีทางวิ่งซ้ำเป็นวงรอบ ยิ่งไปกว่านั้น วงโคจรนั้นก็ไม่ได้ขยายวงออกไปเรื่อยๆ หรือมีลักษณะที่ลู่เข้าหาจุดใดๆ

แม้ความอลวนของเส้นทางโคจรของดาวนั้นยังไม่ได้มีการทำการสังเกตบันทึกแต่อย่างใด แต่ก็ได้มีการสังเกตพบพฤติกรรมความอลวนในความปั่นป่วนของการเคลื่อนที่ของของไหล และในการออสซิลเลท แบบไม่เป็นวงรอบของวงจรวิทยุ ซึ่งไม่มีทฤษฎีใดในขณะนั้นสามารถอธิบายพฤติกรรมเหล่านี้ได้

ความตื่นตัวในการพัฒนาทฤษฎีความอลวนเกิดขึ้นในช่วงกลางของศตวรรษที่ 20 เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์ คือผู้ริเริ่มบุกเบิก เขาสังเกตพฤติกรรมความอลวนขณะทดลองด้านการพยากรณ์อากาศ ในค.ศ.1961 โดยใช้คอมพิวเตอร์ซิมูเลชันแบบจำลองสภาพอากาศซึ่งในการคำนวณครั้งถัดมาเขาไม่ต้องการเริ่มซิมูเลชันจากจุดเริ่มต้นใหม่ เพื่อประหยัดเวลาในการคำนวณ เขาจึงใช้ข้อมูลในการคำนวณก่อนหน้านี้เพื่อเป็นค่าเริ่มต้น ปรากฏว่าค่าที่คำนวณได้มีความแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เขาพบว่าสาเหตุเกิดจากการปัดเศษของค่าที่พิมพ์ออกมาจากค่าที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีค่าน้อยมาก แต่สามารถนำไปสู่ความแตกต่างอย่างมากมาย เรียกว่า ไวต่อสภาวะเริ่มต้น

ในทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ คำจำกัดความของระบบเคออส คือ ระบบแบบไม่เป็นเชิงเส้นประเภทหนึ่ง ที่มีความไวต่อสภาวะเริ่มต้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ถ้าระบบ 2 ระบบนั้นเริ่มต้นจากสภาวะที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย คือเกือบจะเหมือนกันทุกประการ เมื่อระบบได้มีการเปลี่ยนไปสักระยะหนึ่ง สภาวะของระบบทั้งสองที่สังเกตได้เมื่อเวลาผ่านไปจะแตกต่างกันอย่างสังเกตเห็นได้ชัด

“เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” ตรงกับอีกประโยต “ผีเสื้อขยับปีกทำให้เกิดพายุ” (butterfly effect) ซึ่งมีที่มาไม่ชัดเจนแต่เริ่มปรากฏแพร่หลายหลังการบรรยายของลอเรนซ์ ในปี 1972 หัวข้อ “Does the Flap of a Butterfly”s Wings in Brazil Set Off a Tornado in Texas?” นอกจากนี้แล้วยังอาจมีส่วนมาจากรูปแนวโคจรของตัวดึงดูดลอเรนซ์ ที่มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ ซึ่งเขาได้ตีพิมพ์ในบทความวิชาการก่อนหน้านี้


น่าคิด :


-  เชื้อเพนนิซิเลียม บินมาลอยตกในจานเพาะเชื้อที่ลืมปิดฝา เฟลมมิ่งจึงพบยาปฏิชีวนะ และเอ็ดเวอร์ด เจนเนอร์ พบว่าคนเลี้ยงวัวไม่ติดฝีดาษ เพราะรับเชื้อฝีดาษวัว จึงค้นพบวัคซีนจากนั้น จนถึงบัดนี้คนก็เลยเพิ่มขึ้น
6,000 ล้านคน จนจะล้นโลกแล้วเพราะเชื้อราเล็ก ๆ แท้ ๆ

- มนุษย์เกิดจาก การทะลึ่งของโมเลกุลไม่กี่อันที่ดันมาเจ๊าะกัน ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมเลยเกิดสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวตัวแรกของโลกขึ้นจนวิวัฒกลายมาเป็นพวกเรา ๆ ในทุกวันนี้

- ขาดตะปูไป 1 ตัว เกือกม้าอาจจะหลุดได้ ถ้าขาดเกือกม้า ม้าก็ไม่อาจใช้งานได้ ถ้าม้า้ใช้งานไม่ได้ ก็ไม่อาจส่งข่าวสำคัญได้ ถ้าไม่สามารถส่งข่าวได้ การศึกก็อาจจะแพ้ได้

-  เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว หมายถึง ความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในจักรวาล ซึ่งเชื่อมต่อด้วยเหตุผล - ผล (Cause Effect) หรือถ้าใช้ภาษาพุทธ ก็คือ  อิทัปปัจจยตา ภาษาอังกฤษนิยมเรียกว่า Butterfly Effect ยกตัวอย่างเช่น คุณทิ้งพลาสติกลงทะเลวันนี้  อาทิตย์หน้าอาจมีเต่าทะเลตายเพราะกลืนถุงพลาสติกนี้  ซากเต่ายังกระแทกปะการังหักสะบั้น ทำให้สิ่งมีชีวิตหลายชนิิิิดในปะการังไร้ที่อยู่ และตายไป ส่งผลให้ออกซิเจนในน้ำลดลงเล็กน้อย ส่งผลให้ ... ไล่ไปเรื่อย ๆ จนผลกระทบอาจไปโผล่ที่อลาสกาโน่น !

- ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หากห้องแสดงภาพแห่งหนึ่งของเยอรมันตัดสินใจยอมซื้อภาพเขียนของเด็กหนุ่มผู้หนึ่ง เด็กหนุ่มผู้นั้นก็ไม่ต้องมาเป็นทหาร หนุ่มผู้นั้นก็จะไม่ได้มาเป็นผู้นำพรรคนาซีในเวลาต่อมาและเยอรมันก็จะไม่มีผู้นำทางการทหารที่ชื่อ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ประวัติศาสตร์ของโลกก็จะเปลี่ยนไปอย่างใหญ่หลวง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

2leep.com