2554-07-29

ทัศนะต่อ “ผู้นำแห่งอนาคต”


  


โดย รศ.วิทยากร เชียงกูล

สตีเฟน อาร์ โควีย์ เป็นผู้เขียนหนังสือขายดีเรื่อง “อุปนิสัย 7 ประการของคนที่มีประสิทธิภาพสูง” เขาได้เขียนบทความ เรื่อง “THREE ROLES OF THE LEADERS” (บทบาท 3 ด้านของผู้นำ) ในหนังสือรวมบทความเรื่องผู้นำแห่งอนาคตที่มูลนิธิปิเตอร์ ดรักเกอร์ จัดพิมพ์ขึ้น


บทความนี้เสนอว่า ผู้นำในอนาคตจะเป็นคนซึ่งสร้างวัฒนธรรมหรือระบบคุณค่าที่มีพื้นฐานอยู่บนหลักการ เช่นการมอบหมายอำนาจให้คนอื่น (EMPOWERMENT) การสร้างความไว้วางใจ, ความน่าเชื่อถือ ซึ่งเหมาะสำหรับโลกสมัยใหม่ที่มีการแข่งขันกันสูง ผู้นำจะต้องมีวิสัยทัศน์, ความกล้าหาญ, ความนอบน้อมถ่อมตัวที่จะเรียนรู้และเจริญงอกงาม ผู้นำจึงจะสามารถสร้างวัฒนธรรมที่น่าตื่นเต้นได้


คนที่มีอารมณ์ผูกพันในการอยากเรียนรู้สูง ด้วยการสนใจฟัง, มองเห็นแนวโน้มที่กำลังปรากฏขึ้น, ประเมินความสำเร็จและความล้มเหลว, รู้จักสรุปบทเรียนอย่างมีมโนธรรมสำนึก จะเป็นคนที่มีอิทธิพลต่อคนอื่นอย่างยาวนาน ผู้นำเหล่านี้จะไม่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แต่จะยินดีต้อนรับการเปลี่ยนแปลง


โลกปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การขยายตัวของผู้บริโภคทั่วโลก ทำให้ผู้ผลิตต้องยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าให้สูงขึ้น และมีพลังในการแข่งขันพลังใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ระบบการแข่งขันในตลาดเรียกร้องให้การจัดองค์กรต้องเปลี่ยนแปลง องค์กรธุรกิจถูกเรียกร้องให้ต้องผลิตสินค้าและบริการทีมีคุณภาพสูงและส่งต่อให้ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว, เป็นมิตร และอย่างคล่องตัวยืดหยุ่น


การที่จะทำเช่นนั้นได้ องค์กรธุรกิจจะต้องรู้จักมอบหมายอำนาจให้พนักงานได้รับผิดชอบ (EMPOWER) ด้วยตัวเขาเองเพิ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แม้องค์กรธุรกิจหลายพันหลายหมื่นองค์กรพยายามที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีขึ้น แต่มีส่วนน้อยที่ประสบความสำเร็จ ปัญหาสำคัญ คือ คนในองค์กรขาดความเชื่อถือไว้วางใจ (TRUST) กันและกัน


เศรษฐกิจโลกที่มีการแข่งขันสูงเรียกร้องให้เราตระหนักว่าหลักการ เช่นการรู้จักมอบอำนาจให้พนักงานรับผิดชอบด้วยตัวเองมากขึ้น (EMPOWEREMENT) ความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือ คือ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการทำให้เกิดผลงานที่ดีที่เป็นเป้าหมายทุกองค์กรต้องการ


ผู้นำที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือผู้นำที่ยึดถือการนำแบบมีหลักการเป็นศูนย์กลาง พวกเขารู้ว่า เราทุกคนต่างขึ้นอยู่กับกฎธรรมชาติ หรือหลักการที่เป็นผู้บงการควบคุม (GOVERNING PRINCIPLES) ที่ทำงานอยู่เสมอ ไม่ว่าเราจะตระหนักถึงหลักการเหล่านั้นหรือไม่ก็ตาม


ดังนั้น การจะเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ จึงขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับหลักการ เช่นความเที่ยงธรรม, การยินดีในการให้บริการ, ความเสมอภาค, ความยุติธรรม, คุณธรรม, ความซื่อตรง และความเชื่อถือไว้วางใจ


หลักการเหล่านี้เป็นหลักการที่ให้ประโยชน์เห็นได้ชัดเจนในตัวมันเอง เราสามารถพิสูจน์ได้โดยลองคิดดูซิว่ามีสังคมไหน องค์กรไหน ครอบครัวไหนมีประสิทธิภาพหรือประสบความสำเร็จได้ ด้วยการทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับหลักการข้างต้น


หลักการที่ถูกต้องช่วยชี้ทางแก่เรา มันจะไม่เปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนย้ายไปจากเดิม มันจะชี้ทิศทางที่ถูกต้องให้เราอยู่เสมอ


ดังนั้น การนำแบบมีหลักการเป็นศูนย์กลาง จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เรามีความมั่นใจ, ความมั่นคง, อำนาจ, การรู้ทิศทาง, และปัญญาในการบริหารจัดการกับความต้องการที่จำเป็นและโอกาสของโลกยุคปัจจุบัน


บทบาทของผู้นำ


การนำแบบมีหลักการเป็นศูนย์กลาง อาจจะแบ่งเป็นกิจกรรมพื้นฐานได้ 3 ข้อ คือ


1. การหาหนทางไป (PATHFINDING) เนื้อหาที่สำคัญของการหาหนทางไป คือ การมีวิสัยทัศน์และพันธกิจที่เรียกร้องและท้าทาย การหาหนทางไป คือการทำให้คนในองค์กรเกิดความรู้สึกตื่นเต้นต่อเป้าหมายที่สูงค่า ในนามของลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียคนอื่น ๆ


การหาหนทางไป จะผูกพันระบบค่านิยมและวิสัยทัศน์ของคุณให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้วยการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์


2. การเป็นเครือข่ายพันธมิตร (ALIGNING) ประกอบด้วย การทำให้แน่ใจว่าโครงสร้าง, ระบบ และกระบวนการการทำงานของคุณ เป็นปัจจัยที่จะทำให้พันธกิจ และวิสัยทัศน์ประสบความสำเร็จได้จริง ซึ่งหมายถึงว่า 3 เรื่องแรก(โครงสร้าง, ระบบ, กระบวนการทำงาน)จะไม่เข้าไปแทรกแซง, ไม่แข่งขันและไม่ครอบงำ 2 เรื่องหลัง(พันธกิจและวิสัยทัศน์)


จุดคานงัดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้น เมื่อผู้คนมาเข้าร่วมเป็นเครือข่ายพันธมิตรกับพันธกิจ, วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของคุณ คุณจะมีเครือข่ายพันธมิตร เมื่อคนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในความผูกพันที่ทรงพลัง ที่จะช่วยกันทำให้วิสัยทัศน์ของกลุ่ม, องค์กร, ชุมชนเป็นความจริง และเมื่อคุณเชื้อเชิญพวกเขาให้มาช่วยกันปรับปรุงโครงสร้างและระบบ


3. การกระจายมอบหมายอำนาจความรับผิดชอบให้คนอื่น (EMPOWERING) ผู้คนนั้นมีความสามารถ, ความช่างคิด, ความฉลาด, และความคิดสร้างสรรค์ แต่ส่วนใหญ่มักซ่อนอยู่ ไม่มีโอกาสได้แสดงออกมา ต่อเมื่อทุกคนได้เข้าร่วมกับพันธกิจและวิสัยทัศน์ขององค์กร, คุณก็จะเริ่มสร้างพันธกิจร่วมกันกับพวกเขา เป้าหมายและพันธกิจของคนแต่ละคนจะผสมกลมกลืนเข้ากับเป้าหมายและพันธกิจขององค์กร


นั่นก็คือการจุดประกายเพื่อปลดปล่อยให้ความสามารถและความช่างคิดของคนทั้งหลายหลั่งไหลออกมา พวกเขาจะทำทุกอย่างเท่าที่จำเป็นเพื่อให้บริการลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียให้ดีขึ้น


การนำในชุมชน


ในสังคมสมัยใหม่ ยาเสพติด, แก๊งเด็กเกเรอันธพาล ความไม่รู้หนังสือ, ความยากจน, อาชญากรรม, ครอบครัวแตกแยก กำลังทำให้สังคมเกิดความเสี่ยงสูงในทุกมิติ


ผู้นำแห่งอนาคตตระหนักว่า รัฐบาลและกลุ่มทางสังคมที่มีบทบาทอยู่ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ มันไม่ใช่ความผิดพลาดของพวกเขาเท่านั้น พวกเขาต้องการเครือข่ายของคนที่จะมาช่วยกันแก้ไขปัญหาที่กว้างขวางกว่าที่เรามีอยู่ เราจะต้องหาทางทำให้ทุกคนในชุมชนมีจิตสำนึกความรู้สึกรับผิดชอบ และเป็นผู้พิทักษ์ดูแลชุมชน


เราจะต้องสร้างให้เด็กเยาวชนมีจิตสำนึกความรับผิดชอบในทำนองนี้ด้วย คุณควรเริ่มด้วยการทำตัวให้เป็นแบบอย่างต่อคนในครอบครัวของคุณ ตอนนี้คุณช่วยเหลือชุมชนในด้านใดอยู่หรือไม่? คุณพยายามจะทำความเข้าใจปัญหาของชุมชนและดูว่าคุณจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ของชุมชนอยู่หรือไม่? คุณพยายามจัดการให้บริการแก่ครอบครัวใหญ่ทั้งหมดหรือไม่?


เราจะต้องสร้างวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสังคมที่ดีขึ้นกว่าเดิม และช่วยทำให้สิ่งนี้เกิดเป็นจริงขึ้น


อุปนิสัย 7 ประการของคนที่มีประสิทธิภาพสูงที่โควีย์เคยเสนอไว้ซึ่งน่าจะเป็นอุปนิสัยสำหรับผู้นำด้วยคือ


1) เป็นคนริเริ่มลงมือทำเองในเชิงรุกและรับผิดชอบ


2) มีเป้าหมายในชีวิต


3) รู้จักเลือกทำสิ่งที่สำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมาย


4) คิดแบบใจกว้าง มุ่งความร่วมมือให้ได้รับชัยชนะร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย


5) เป็นผู้รับฟังที่ดี พยายามเข้าใจคนอื่น


6) หาทางออกเพื่อประโยชน์ร่วมกันแบบทวีคูณ


7) ลับเครื่องมือของมนุษย์เรา คือพลังขับทั้งด้านร่างกาย ปัญญา จิตใจให้คมอยู่เสมอ


“เมื่อสมาชิกในทีมมองเพื่อนร่วมทีมด้วยความนับถือในกันและกัน, ความแตกต่างของสมาชิกแต่ละคนจะถูกใช้ประโยชน์ และกลายเป็นจุดแข็งมากกว่าที่จะเป็นจุดอ่อน. บทบาทของผู้นำคือการสร้างความนับถือในกันและกันของคนในองค์กรและสร้างทีมที่จะสนับสนุนกันและกัน ทำให้จุดแข็งเพิ่มผลิตภาพมากขึ้น และทำให้จุดอ่อนเป็นเรื่องที่ไม่มีความหมาย”


สตีเฟน โควีย์ (1932- )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

2leep.com