2554-07-31

สิ่งบั่นทอนพลังชีวิต





เราใช้ชีวิตบนโลกทุกวันนี้ที่หมุนเร็วราวกับว่าเวลาที่เคยได้เคยมีมายี่สิบสี่ชั่วโมงชักจะหดถดถอยไปเกือบครึ่งราวกับว่าเวลาเป็นค่าคงที่แต่ไม่คงตัวกระนั้น

จังหวะชีวิตที่เร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งคำกล่าวอ้างว่า ไม่มีเวลา ดูท่าจะใช้ได้อย่างชอบธรรมเป็นสากล


ในช่วงก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่การพัฒนาทักษะทางการจัดการที่เรียกว่า Soft skill เฟื่องฟู นับเป็นเรื่องสำคัญจำเป็นและสามัญยิ่งที่องค์กรจะจัดการพัฒนาทักษะการบริหารเวลาให้พนักงานและผู้บริหารอย่างถ้วนหน้า


แต่หากมองในอีกทางหนึ่ง การจะจัดสรรตัวเองให้แสดงทุกบทในชีวิตอย่างสมบทบาท ได้ผลลัพธ์ดังมุ่งมาดปรารถนา การบริหารเวลาด้วยการเพ่งมิติความสำคัญและเร่งด่วน ออกจะแห้งแล้งไปสักหน่อย ด้วยเพ่งในมิติเชิงปริมาณแต่ประการเดียว


แม้จะวางตนเองลงในตารางเวลาอย่างเคร่งครัด แต่หากในอีกด้านที่วัดไม่ง่าย อย่าง “แรงกาย” “พลังใจ” และ “แรงขับภายใน” ที่อาจเรียกรวบว่า “พลังชีวิต” นั้น ไม่ได้ถึงพร้อม ก็ใช่จะเล็งผลเป็นเลิศได้ โดยเฉพาะบทบาทหน้าที่ที่เรียกร้องพลังข้างในมาส่งแรงผลักแข่งกับเวลา


เมื่อไม่ได้ให้น้ำหนักความสำคัญละเลยการบริหารพลังชีวิต จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่แม้ผู้ที่แม่นยำและมีวินัยยิ่งที่จะวางแผนการใช้เวลาและเดินตามตารางเวลาอย่างเคร่งครัด จะไม่ได้ผลสำเร็จอย่างใจ มิหนำซ้ำยังรู้สึกล้าโรย หายใจไม่เต็มอิ่ม ฝันตลอดคืน หรืออารมณ์แปรปรวนง่าย


อาจเพราะเราตกหลุมพราง ที่วางไว้ดักล่อทั้งสายตาและมุมคิด เรื่องเริ่มเดิมทีที่สุด คงหนีไม่พ้นการนอนหลับ ที่อ้างอิงไว้ใน Harvard business review เล่มล่า โดย Tony Schwartz เขาว่าไว้ว่า เราเข้าใจกันต่อมาอย่างผิดๆว่าการนอนน้อยลงสักหน่อยจะเป็นการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจัดการภารกิจได้เสร็จ


แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ผลสำรวจบอกว่าคนเราต้องการเวลานอน 7-8 ชั่วโมง ยิ่งกับผู้ที่มีสมรรถภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรี หรือนักกีฬา ล้วนแล้วแต่นอนไม่ต่ำว่า 8 ชั่วโมง


การนอนน้อยกว่านั้น แม้เพียงไม่กี่อึดใจ ก็ส่งผลต่อสมาธิ ความคิดวิเคราะห์ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เรียกว่าบั่นทอนขีดความสามารถทั้งของจิตและสมองสองซีกอย่างที่ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้นเลย


การจัดสรรเวลาเพื่อการนอนพักอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เปิดโทรทัศน์ เสียงเพลงรบกวนจิตใต้สำนึกขณะนอนหลับ รวมถึงพักเรื่องที่คิดแล้วชวนเหนื่อยล้าก่อนเข้านอนสักระยะ จะช่วยหล่อเลี้ยงพลังชีวิตได้ในยามหลับ เมื่อถึงจุดเพียงพอจะรู้สึกได้ถึงความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าพอดีนับแต่ลืมตาตื่น


เรื่องที่สอง คือการทำงาน การฝึกอบรม หรือประชุมแบบม้วนเดียวจบ หลายชั่วโมงติดต่อกันราวกับชมภาพยนตร์ ความเหนื่อยล้าอ่อนระโหยโรยแรงจึงมาเยือนชนิดสะสมไว้ไม่มีที่ระบายออก ร่างกายจะฟ้องออกมาทางการเร่งอัตราการเต้นหัวใจ ความดันโลหิต และความตึงเคร่งของกล้ามเนื้อ ทางที่ดีควรหาโอกาสพักทุกเก้าสิบนาทีให้ได้ หากเป็นคนทำงานในองค์กร หนทางการงีบสักสิบหรือสิบห้านาที ความน่าจะเป็นดูจะน้อยไปสักหน่อย ทางเลือกอื่นอีก มีทั้งการเดินขึ้นลงบันได จนรู้สึกเหนื่อยนิดๆ ถือเป็นยาคลายกังวลได้ชะงัดนัก


ประเด็นท้ายสุด คือความคิดจิตใจและความรู้สึก ที่คนเรามักตกกับดักความรู้สึกด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นการหมกมุ่นครุ่นคิด กังวลกับสิ่งเลวร้ายที่ยังไม่เกิดขึ้น ความซึมเศร้าซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากสิ่งที่ผ่านพ้นจบลงไปแล้ว ความเกรี้ยวกราวโมโห หรือที่คนสมัยใหม่เรียกกันว่า วีนเหวี่ยง นับเป็นสิ่งที่บั่นทอนแรงกายแรงใจได้อย่างชะงักงัน การบริหารใจให้เพ่งสิ่งดีงามในโลก ชีวิต การทำงาน และตนเอง จึงเป็นยาขนานเอกในการเสริมแรงกายใจ ให้ชีวิตเปี่ยมล้นพลัง สังเกตได้จากประกายตาที่สดใสแวววับด้วยความหวังกำลังใจ จนส่งผ่านไปยังคนใกล้ตัวได้อย่างเงียบเร้น


การบริหารเวลาและพลังชีวิต แท้จริงแล้วมิใช่เป็นเรื่องเล็กหรืออื่นไกล แต่เป็นการบริหารชีวิตภาพใหญ่ให้มีความหมาย ที่ออกแบบสร้างสรรค์ได้ด้วยตัวเราเองแทบทั้งสิ้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

2leep.com