กลไกการป้องกันตัวเอง ( Defense Mechanism) ไม่ใช่ความผิดปกติ เพราะ เป็นการปรับตัวของ Ego ( 1 ในโครงสร้างทางจิตใจ มีหน้าที่จัดการ ประนีประนอมแรงผลักดัน ความต้องการต่างๆ กับ ระเบียบ ความถูก-ผิด ข้อจำกัดจากสภาพข้อเท็จจริงภายนอก) เพื่อให้จิตใจกลับสู่ภาวะสมดุล
แต่ ถ้าใช้กลไกทางจิตแบบเดิมๆอยู่เสมอ วนเวียนจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ชนิด ไม่มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ หรือไม่เหมาะสมตามวัย ก็มักจะก่อให้เกิดปัญหาหรือจิตพยาธิสภาพตามมาได้ค่ะ
ถึงเวลามารู้จักกลไกการป้องกันตัวเองกันแล้วนะคะ ว่ามีกี่แบบ อะไรบ้าง…พิมพ์นิยมของกลไกการป้องกันตัวเองมีดังนี้ค่ะ
1. กลไกการป้องกันตัวเองที่มีวุฒิภาวะ ( Mature Defenses ) เป็นระดับสูงที่สุด ถือว่าถ้าใช้กลไกกลุ่มนี้แล้วจะนำไปสู่การปรับตัว และมีสุขภาพจิตดี ซึ่งตามความเป็นจริงกลไกเหล่านี้ก็มีส่วนเปลี่ยนแปลงหรือบิดเบือนความรู้สึกอยู่บ้างเหมือนกัน แต่เมื่อใช้แล้วผลที่ได้มักก่อให้เกิดศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจแห่งตนก็เลยหยวนๆว่าเป็นกลไกการป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดในทั้งหมด มีอยู่ 9 อย่าง แต่จะยกมาเป็นน้ำจิ้มแค่ 3 คือ
ก. การทดเทิด ( Sublimation ) หมายถึง เปลี่ยนความรู้สึกหรือแรงผลักดันให้เป็นรูปแบบที่สังคมยอมรับ เช่น นายดำชอบความรุนแรง ก้าวร้าวเลยไปเรียนชกมวย หรือกระเทยมักมีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งที่โดดเด่น เพราะรู้สึกว่าไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากสังคม
ข. การกดระงับ ( Suppression ) หมายถึง จัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยการใช้วิธีเก็บปัญหาเอาไว้ก่อน ฝากไว้ในระดับจิตสำนึก เช่น กังวลใจหลังสอบ เพราะรู้สึกว่าทำไม่ได้ แต่บอกกับตัวเองว่าถึงกังวลไปก็ทำอะไรไม่ได้ รอผลสอบออกมาแล้วค่อยมาว่ากันอีกที
ค. อารมณ์ขัน ( Humor ) หมายถึง การใช้อารมณ์ขันเพื่อแสดงความรู้สึกหรือความคิดออกมา โดยที่ตนก็ไม่รู้สึกอึดอัด และเป็นผลดีต่อผู้อื่น บางครั้งความตลกขบขันก็ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์และทนต่อสภาพที่น่าหวาดกลัวได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างก็เช่นพี่ฑูร อัยการชาวเกาะผู้น่ารัก หรือพี่ตึ๋งจอมป่วนของเราไงคะ
ที่เหลือก็มี การคาดการณ์ ( Anticipation ) , การเห็นประโยชน์ผู้อื่น ( Altruism ) , การยืนหยัดด้วยตัวเอง ( Self - Assertion ) , การบำเพ็ญตบะ ( Ascetism ) , การเป็นสมาชิก ( Affilliation ) , และ การสังเกตตัวเอง ( Self - Observation )
2. กลไกการป้องกันตัวเองแบบโรคประสาท ( Neurotic Defenses ) เป็นกลไกทางจิตที่ปรับตัวไม่ดีเท่ากลุ่มแรกและมักทำให้เกิดความไม่สบายใจบางอย่าง โดยเฉพาะอาการของโรคประสาท มีอยู่ 14 ชนิด ยกมาเสริฟแค่ 3 พอค่ะ
ก. การเก็บกด ( Repression ) หมายถึง เก็บกดความคิด ความรู้สึก หรือความต้องการที่ตนเองยอมรับไม่ได้ไว้ในระดับจิตไร้สำนึก ผลของการเก็บกดคือ “ลืม” เช่น ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเคยถูกข่มขืนตอนอยู่ชั้นประถมฯ จนกระทั่งได้อ่านไดอารี่ของแม่
ข. การเคลื่อนย้าย ( Displacement ) หมายถึง การเปลี่ยนเป้าหมายที่ีตนเองเกิดความรู้สึกไปยังที่อื่น ซึ่งมีผลเสียน้อยกว่า เช่น ถูกหัวหน้าตำหนิรู้สึกโกรธแต่ทำอะไรไม่ได้ กลับมาฉุนเฉียวกับคนที่บ้าน
ค. การใช้เชาวน์ปัญญา ( Intellectualization ) หมายถึง หันเหความสนใจไปสู่การใช้ความคิด ปรัชญาต่างๆ เพื่อเลี่ยงการเผชิญกับสิ่งที่ไม่สบายใจ เช่น ศูนย์หน้าทีมฟุตบอลที่แพ้ หลีกเลี่ยงความรู้สึกว่าตนเองแย่ โดยการหันมาสนใจรายละเอียดเรื่องการวางแผนและขั้นตอนที่บกพร่อง กลไกอันนี้ความจริงเป็นสิ่งดี แต่มีทางแพร่งที่อาจทำให้เป๋ค่อนข้างเยอะเลยถูกจัดให้เป็นกลุ่มรองลงมา ไม่ใช่ดี 1 ประเภท 1 55555555555
ที่เหลือก็เช่น การกระทำที่ตรงกันข้าม ( Reaction - Formation ) , การปลดเปลื้อง ( Undoing ) , การกำหนดรู้ภายนอก ( Externalization ) , การยับยั้งจุดหมาย ( Aim Inhibition ) , การแตกแยก ( Dissociation ) , การแยกอารมณ์ ( Isolation of Affect ) , การควบคุม ( Controlling ) , การให้ความสำคัญทางเพศ ( Sexualization ) การแปรเปลี่ยน ( Conversion ) , การเลียนแบบ ( Identification ) และ การทำให้เป็นสัญลักษณ์ ( Symbolization )
3. กลไกป้องกันตนเองแบบไม่บรรลุวุฒิภาวะ ( Immature Defenses ) เป็นกลไกที่นำไปสู่ความไม่สบายใจอย่างรุนแรงและมักก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้อื่นด้วยสิคะ มีประมาณ 19 ชนิด ยกมา 3 เหมือนกัน อิอิอิ
ก. การปฏิเสธ ( Denial ) หมายถึง หลีกเลี่ยงการรับรู้ความเป็นจริงที่ทนรับไม่ได้โดยปฏิเสธการรับรู้ เช่น แพทย์แจ้งว่าเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยไม่เชื่อและไม่สนใจในสิ่งที่แพทย์แนะนำ
ข. การโทษผู้อื่น ( Projection ) หมายถึง การโยนความรู้สึกหรือความต้องการที่ตนเองรับไม่ได้ให้เป็นของผู้อื่น เช่น ไม่ชอบหัวหน้างาน แต่เกิดความรู้สึกว่าหัวหน้างานกลั่นแกล้ง ไ่ม่ไว้ใจตนเอง หรือนักเลงสนุ้กเกอร์เล่นแพ้บอกว่าเป็นเพราะสักหลาดชื้นและฝืดเกินไปทำให้ลูกไม่วิ่ง
ค. การหาเหตุผลเข้าข้างตน ( Rationalization ) หมายถึง การหาสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลมาอธิบายความคิด หรือการกระทำของตนเองที่จิตใจยอมรับไม่ได้ บางครั้งก็เพื่อรักษาชื่อเสียงของตนเอาไว้ไม่ให้เสียหน้าหรืออับอาย เช่น ผู้หญิงที่ไม่ยอมแต่งงาน บอกกับเพื่อนว่า อยู่คนเดียวสบายใจกว่า ชีวิตแต่งงานไม่เห็นมีความสุขอะไรเลย ^ ^ … กลไกการป้องกันตัวข้อนี้มีชื่อเล่นว่า”แถ” ค่ะ เพราะบางทีฟังแล้วข้างๆคูๆชอบกล
อย่างอื่นก็เช่น การทำให้คุณค่าลดลง ( Devaluation ) , ความยิ่งใหญ่ ( Omnipotence ) , เพ้อฝัน ( Fantasy ) , การแบ่งแยก ( Spiltting ) , การพุ่งเข้าหาตัวเอง ( Introjection ) , การถดถอย ( Regression ) , การบ่นว่าไม่มีใครยอมช่วยเหลือ ( Help - Prejecting Complaining หุหุหุ ) ฯลฯ
4. กลไกการป้องกันตัวเองแบบโรคจิต ( Psychotic Defenses ) หึหึหึ เป็นกลไกแบบต่ำสุด เมื่อใช้แล้วมักทำให้เกิดการปฏิเสธและบิดเบือนความจริง มี 3 แบบ คือ การโทษผู้อื่นแบบหลงผิด ( Delusional Projection ), การปฏิเสธแบบโรคจิต ( Psychotic Denial ) และการบิดเบือนแบบโรคจิต ( Psychotic Distortion ) แต่ยกมาอธิบายเพียง 1 คือ….
การโทษผู้อื่นแบบหลงผิด ( Delusional Projection ) หมายถึง การใช้กลไกแบบโทษผู้อื่น อย่างรุนแรงจนเกิดการสูญเสียการทดสอบความจริง และมีอาการหลงผิดร่วมด้วย เช่น ผู้ป่วยคิดว่าตัวเองเป็นบุคคลสำคัญยิ่งใหญ่จนมีคนลอบสังหาร และติดตามตัวเขาได้เนื่องจากมีผู้กระจายข่าวอยู่ในปาก … ^ ^
ตัวอย่างการใช้กลไกการป้องกันตัวเองจนเป็นนิสัยและอาจเกิดปัญหา
1. Repression เก็บกด…ใช้บ่อยๆจะกลายเป็นคนขี้ลืม และไม่รู้จักการแก้ไขปัญหา
2. Fantasy เพ้อฝัน…ใช้บ่อยๆจะทำให้เป็นคนเฉื่อยชา ไม่ขวนขวาย
3. Rationalization …การอ้างเหตุผล (แถ) ถ้าใช้บ่อยๆจนชินมีโอกาสพัฒนาเป็น Projection (โทษผู้อื่น) ได้ง่ายดายมากค่ะ
4. Displacement …การเปลี่ยนเป้าหมายไปสู่สิ่งที่มีผลเสียน้อยกว่า กลไกชนิดนี้มักพบบ่อยในผู้ป่วย Phobic Neurosis( โรคประสาทกลัวที่รุนแรงเกินกว่าเหตุและไม่สมเหตุผล)
5. Projection… โทษผู้อื่น ใช้บ่อยๆจะก้าวร้าว ไม่รู้จักแก้ไขปัญหา ขาดความรับผิดชอบ สุกเอาเผากิน
จะเห็นว่ากลไกการป้องกันตัวเองมีทั้งด้านบวกและด้านลบ และบางครั้งก็ใช้ร่วมกันได้มากกว่า 1 แบบ / 1 สถานการณ์
ด้านบวก คือ…ทำให้จิตใจหายวิตกกังวล
ด้านลบ คือ…ส่วนใหญ่ ไม่ได้ช่วย แก้ไขปัญหา…แถมถ้าใช้บ่อยๆจนเป็นนิสัย จะกลายเป็นปัญหาอย่างมากตามมาได้
ดังนั้น รู้ทันมันนะคะ ถ้าสำรวจพบว่าใช้กลไกการป้องกันตัวเองที่ไม่ค่อยเหมาะสมบ่อยๆก็พยายามลด ละ เลิก เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาวค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น