อ.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ เผยอันดับโลกที่น่าสนใจของการศึกษาไทย
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ เผยหลังประชุมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้รายงานสถานการณ์การศึกษาของประเทศไทยกับนานาชาติ จากการจัดอันดับของ International Institute for Management Development (IMD) ปี 2553 ซึ่งมี 58 ประเทศทั่วโลกเข้ารับการประเมินจัดอันดับ
โดยผลการประเมินการศึกษาในภาพรวมของไทย พบว่าอยู่อันดับที่ 47 เท่ากับปี 2552 ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อาทิ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น ไทยมีอันดับอยู่เหนือเพียงอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ส่วนในด้านคุณภาพการศึกษา พบว่า อัตราส่วนนักเรียนต่อครูระดับประถมศึกษาอยู่อันดับที่ 41 โดยอัตรานักเรียนอยู่ที่ 17.70 คนต่อครู 1 คน สำหรับอัตราส่วนนักเรียนต่อครูระดับมัธยมศึกษา อยู่อันดับที่ 53 โดยอัตรานักเรียนอยู่ที่ 21 คนต่อครู 1 คน
นายชินวรณ์ กล่าว ในด้านโอกาสและความเสมอภาค พบว่า การเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาสุทธิ ซึ่งพิจารณาจากจำนวนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาอายุ 12-17 ปีที่เรียนเต็มเวลา อยู่ในอันดับที่ 47 ดีขึ้นกว่าปี 2552 โดยไทยมีอัตราการเข้าเรียนมัธยมศึกษาสุทธิอยู่ที่ 92% ส่วนการไม่รู้หนังสือของผู้ใหญ่ พิจารณาจากประชากรที่อายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่า ไทยมีอัตราการไม่รู้หนังสือของผู้ใหญ่ 7.4% อยู่อันดับที่ 44 ผลสัมฤทธิ์ของการอุดมศึกษา พิจารณาจากประชากรอายุ 25-34 ปี ที่จบการศึกษาตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาขึ้นไป พบว่าไทยอยู่ที่ 18% อันดับที่ 45 จำนวนคนใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากร 1,000 คน พบว่า ไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 209 คน อยู่ในอันดับที่ 53 แย่ลงจากปีที่ผ่านมา
ในหัวข้อประสิทธิภาพการจัดการศึกษา/การบริหารจัดการ พบว่า การจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจ ไทยอยู่อันดับที่ 30 ได้ 5.75 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน แย่ลงจากปี 2552 การถ่ายโอนความรู้ระหว่างภาคธุรกิจกับมหาวิทยาลัย ไทยอยู่อันดับที่ 34 ได้ 4.28 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน และการลงทุนเพื่อการศึกษา ซึ่งพิจารณาจากค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของไทยในภาครัฐต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยไทยลงทุน 4.2% ต่อจีดีพี อยู่อันดับที่ 35 ซึ่งถือว่ามากกว่าสิงคโปร์ที่ลงทุน 3.1% แต่อันดับการศึกษาในภาพรวมของสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 13 ซึ่งดีกว่าไทยที่อยู่ในอันดับที่ 47 ถึง 34 อันดับ
นายชินวรณ์ กล่าว ‘ผลการประเมินด้านการศึกษาในภาพรวมยังอยู่ในระดับที่ต้องมีการศึกษาและติดตามต่อไปว่าเราจะต้องดำเนินการที่จะพัฒนาการศึกษาในภาพรวมอย่างไร โดยผมได้มอบให้ สกศ.นำผลการประเมินดังกล่าวไปวิเคราะห์ และรายงานต่อที่ประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. เพื่อที่จะมอบให้องค์กรหลักที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะในแต่ละด้านไปดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป ซึ่งตัวชี้วัดที่ IMD ใช้ในการประเมินจัดอันดับหลายตัวมีความเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง’
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น