2554-07-29

10 กฎทอง Entrepreneur




กฎข้อที่ 1 ชัดเจนใน DOs and DON'Ts

ผู้ที่จะริเริ่มทําธุรกิจใหม่ ต้องการความสําเร็จ ไม่ใช่เพียงแค่หาเงินเลี้ยงชีพไปวันๆ จะต้องมองให้ขาด ตีโจทย ให้แตกว่าเงื่อนไขที่ Must กับเงื่อนไข Sufficient มีอะไรบ้าง
เงื่อนไขแบบที่เรียกว่า Must นั้น คือเงื่อนไขจําเป็นในการเริ่มตนธุรกิจ นั่นคือ เป็นธุรกิจที่มีความต้องการในตลาด หรือเป็นปัญหาที่คนยังแก้ได้ไม่ดี หรือแก้ไม่ได้ ขณะเดียวกันก็เป็นความต้องการที่ตัวคุณเองสามารถ ตอบสนองได้ดีกว่าคนอื่น แก้ปัญหาได้เก่งกว่าคนอื่น ทั้งสองประการนี้รวมกันก็เท่ากับว่าตลาดจําเป็นต้องมี คุณจึงจะแก้ปัญหานั้นได้ มีความเป็นเอกลักษณ์ที่คนอื่นเอาอย่างได้ยาก
คุณต้องมองเห็นสิ่งที่คนอื่นเขามองไม่เห็น คนพบสิ่งที่สามารถบอกตัวเองได้อย่างเต็มปากว่า "ข้าฯ เจอแล้ว เจอสิ่งที่ตลาดต้องการอย่างแท้จริง" การเป็นเพียง Me-Too Product เลียนแบบคนอื่น ทําสิ่งของให้เหมือนกัน แต่ขายในราคาต่ํากว่า เท่านั้นจะไม่ยั่งยืน ไม่นานก็ล้มหายตายจากโลกนี้ไป
โอกาสธุรกิจมีอยู่เกลื่อนกลาด แต่ต้องเข้าให้ถึง "แก่นแท้" ของความต้องการตลาดอย่างแท้จริง คนที่เข้าถึง ตลาดไม่เคยมีใครล้มเหลว ตอบตัวเองให้ได้ว่า "ลูกค้า" ของคุณต้องการอะไร คนส่วนใหญ่มักจะลําดับ ความคิดไม่ถูกต้อง หลายคนมองแต่คู่แข่งว่าเขาทําอะไร หรือมองแต่ตัวเองว่าทําอะไรได้ แต่ลืมว่าคนที่ต้องเข้าใจให้ดีที่สุดคือลูกค้า ตราบใดที่ไม่ลืมความคิดอันนี้ ไอเดียธุรกิจใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะลูกค้าเป็นมนุษย์ที่มีความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด มีกิเลส ไม่รู้จักพอ สิ่งที่ลูกค้ายังไม่พอใจอยู่ ยังมีอยู่มากมายรอบตัวตลาดจึงเกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด
คุณจะต้องหัดตั้งคําถามให้ถูกต้อง "ถ้าเกิดมีผลิตภัณฑ์แบบนี้ คุณคิดว่าอย่างไร" หรือ "ถ้าเรื่องนั้นเป็นไปได้ คุณจะทําอย่างไร" "ถ้าเกิด......คุณคิดว่าอย่างไร".......คําถามทํานองนี้แหละจะทําไปสู่ไอเดียอันบรรเจิดซึ่งจะต่อเนื่องไปสู่ธุรกิจที่สําเร็จได้ คนที่ตั้งคําถามเป็นกับคนถามไม่เป็น ลงไปภาคสนามจะเห็นความแตกต่างราวฟ้ากับดิน

ยิ่งเรื่องไอเดียผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยแล้ว ต้องมองให้เห็นถึงปัญหาอยู่เสมอ ถามตัวเองและคนรอบขางให้ได้ว่า"ปัญหามันคืออะไร" "อะไรคือสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น" ตอบคําถามนี้ได้เมื่อไร จะมองออกเลยว่าโลกเรามีผลิตภัณฑ์อะไรที่ยังขาดการพัฒนาอีกบ้าง


 

กฎข้อที่ 2 เมื่อโอกาสมาถึงต้องกดคันเร่ง

ในระยะแรกนั้นอาจจะระมัดระวัง คอยควบคุมให้โอกาสล้มเหลวน้อยที่สุด เมื่อสําเร็จแล้วหนึ่ง สําเร็จอีกหนึ่ง เมื่อเห็นจังหวะเหมาะต้องเหยียบคันเร่งให้เต็มที่
คนยุคนี้เลียนแบบเก่งมาก ทําอะไรดีๆ เดี๋ยวของปลอม เดี๋ยวของคลายคลึง ของใกล้เคียงโผล่มาเพียบขณะเดียวกัน วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) ก็สั้นลงอย่างน่าใจหาย เผลอแป็บเดียวก็ตกต่ําไปฉิบธุรกิจในสมัยนี้ มีปัจจัยความสําเร็จอยู่ที่การสร้างความแตกต่างความแตกต่างสมัยนี้มีเพียง 2 ประการเท่านั้น คือความเร็วและคุณค่า (Customers and Value) เดี๋ยวไม่มีใคร ทําอะไรได้ถูกกว่าคนอื่นเท่าไรแล้ว ความเร็วเป็นปัจจัยหนึ่งที่นํามาซึ่งความสําเร็จ เพราะรุกตลาดเร็วกว่าคู่แข่งเล็กน้อย ถอยได้เร็วกว่าอีกหน่อย เท่านี้คุณก็ได้หัวกะทิของตลาดไปแล้ว ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมกฎข้อที่ 1 คือสนองความต้องการของลูกค้าให้ถึงกึ๋น เข้าให้ถึงปัญหาของลูกค้า ให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุณทําได้ดีกว่า คู่แข่งของคุณ (ทางเลือกอื่นของลูกค้า) เล็กน้อยอยู่เสมอ
ลองมามองจากสายตาลูกค้าดู ถ้ามีใครที่คุณรู้สึกว่า "ไอ้นี่มันดีกว่า ต้องการเมื่อไรก็มาถึงก่อนทุกที" แล้วลูกค้าจะไปเลือกคนอื่นทําไมกัน
เพราะฉะนั้น ถ้าคุณมีอะไรเหมือนๆ กับคู่แข่ง มุ่งแต่จะขายราคาต่ํากว่าเท่านั้น ยอดขายคุณจะเติบโตได้มากขนาดไหนก็ไม่ยั่งยืน และถ้าทําอะไรเหมือนๆ กับคนอื่น ด้วยความเร็วเท่าคนอื่น ก็ไม่ต้องหวังว่าจะชนะได้คุณต้องมองหาทางที่จะไปถึงจุดมุ่งหมายได้เร็วกว่าคู่แข่ง อาจจะด้วยวิธีการที่แตกต่าง หรือด้วยอะไรก็แล้วแต่
อย่างไรก็ดี คําว่า Economies of Speed ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ความว่องไวช่วงสั้นๆ เท่านั้น การทําธุรกิจเป็นเรื่องระยะยาว คุณต้องซ่อมให้มี footwork ดีอยู่เสมอ เร็วอยู่ตลอดเวลา รักษาระดับอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับการวิ่ง มาราธอน ไม่ได้เร่งในช่วงสุดท้าย แต่ความเร็วต้องไม่ตกจึง จะเป็นผู้ชนะในที่สุดเมื่อสามารถนําเสนอคุณภาพที่ดีกว่าด้วยความเร็วที่เหนือกว่า สิ่งต่อมาที่จะสร้างความยั่งยืนของ ความรวดเร็วและคุณค่า นั่นก็คือ ความสามารถที่จะรักษาสิ่งเหล่านี้ไม่ให้ถูกลอกเลียนแบบได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการ lock in ลูกค้า หรือการจดทะเบียนสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เพื่อให้กฎหมายคุ้มครองเอกสิทธิ์เหนือความรู้ที่อุตส่าห์สร้างมา หรือหาเทคนิคที่ใครก็ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้



กฎข้อที่ 3 เจ้าของธุรกิจต้องรู้คุณคน อย่ามั่นใจในฝีมือตัวเองมากเกินไป 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ คนเก่งๆ ที่ใครๆ ก็เชื่อถือในฝีมือ ล้มมานักต่อนักแล้ว เรื่องนี้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องพิสูจน์ได้เสมอ 
สตีฟ จ็อบส์ ผู้สร้าง iPod อันเกรียงไกร ล้มเหลวมากี่หนกว่าจะสำเร็จ เอดิสันกว่าจะคิดค้นหลอดไฟได้ต้องทดลองกี่หมื่นครั้ง คุณเจริญเองก็เคยล้มแรงๆ มาแล้ว คนเหล่านี้ก็ยังโชคดีกว่าอีกหลายคนที่สำเร็จก่อนแล้วมาล้มทีหลัง กลายเป็นคนที่ถูกโลกลืม 
แน่นอน ตอนที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ ฝีมือของผู้ก่อตั้งหรือเจ้าของธุรกิจ ย่อมหมายถึงความสามารถขององค์กรด้วย ตอนนั้นคิดเอง ตัดสินใจเอง ลงมือทำเอง ย่อมเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ไม่มีอะไรเหนือกว่านั้นอีกแล้ว แต่เมื่อขนาดของบริษัทใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มนุษย์คนเดียวย่อมไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้หมดทุกเรื่อง 
เห็นธุรกิจจำนวนมากที่ออกตัวดีมาก 5 ปีแรก ทุกอย่างราบรื่นเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่พอหลังจากนั้นก็เริ่มแสดงอาการ แล้วก็ล้มครืนไปในที่สุด ก็เห็นมาแยะ สาเหตุส่วนใหญ่มักจะมาจาก 2 ประการหลัก 
ประการแรก คือ มีไอเดียทางธุรกิจที่เยี่ยมยอด วางตลาดออกมาแล้วฮิตติดตลาดจนบริษัทประสบความสำเร็จเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่นานก็ถูกคนอื่นเลียนแบบ ตัดราคา รายใหญ่กว่าทุบจนไม่สามารถต่อกรได้ ประกอบกับตัวเองก็หมดมุข ไม่มีอะไรเป็นไพ่ใบต่อไปให้เล่น ประการต่อมาก็คือ เลือกพันธมิตรผิดทาง ไม่หาเพื่อนที่พึ่งพากันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปล่อยให้ธุรกิจพึ่งพาความสามารถตนเองมากเกินไป 
คนเราไม่ว่าจะอยู่ในช่วงไหนของชีวิต ก็ต้องโน้มตัวให้ต่ำลงไว้ ทำใจให้นอบน้อมถ่อมตน ไม่โอ้อวดอหังการ และเมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ก็ยิ่งต้องไม่คิดว่า "ตัวข้าฯ เก่ง" "ตัวกูยอด" แต่ตรงกันข้ามต้องยิ่งนอบน้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ที่เคยให้ความเมตตามาก่อน ต้องมีสำนึกถึงบุญคุณที่เขาให้คำชี้แนะ ให้ความช่วยเหลือเรามา ไม่ว่าจะเล็กน้อยสักแค่ไหน หรือคนเหล่านั้นจะกลายเป็นคนที่ต่ำต้อยกว่าตนเอง 
ความสำนึกต่อบุญคุณที่ "ครู" ให้คำสั่งสอนเรา ให้เราได้มองเห็นแนวทางสู่ความสำเร็จ รวมถึงผู้ที่ยื่นมือให้ความช่วยเหลือยามที่ตกต่ำ จนถึงเพื่อนร่วมงานที่ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างธุรกิจขึ้นมาในช่วงที่ธุรกิจยังลูกผีลูกคน จะทำให้เราเป็นผู้ที่คนอื่นยินดีให้ความช่วยเหลือ เป็นคนที่เรียนรู้ไม่รู้จบ จะเป็นเลิศอย่างยั่งยืน แล้วจะมีคนยื่นมือมา ช่วยให้ก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง 
คนที่สำเร็จแล้ว "เชิด" มองไม่เห็นหัวคนอื่น ไม่เคยเป็นผู้ที่สำเร็จอย่างแท้จริงเลยสักคน 



กฎข้อที่ 4 คบเพื่อนที่มีความเห็นต่าง 

การทำธุรกิจ เป็นการทำงานเป็นทีม ต้องรวมพลังจากคนที่มีความคิดจากหลากหลายมุม มีความสามารถจากหลากหลายด้าน แต่มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน จึงจะสำเร็จ ไม่ใช่หาแต่คนที่คิดเหมือนกันหมด 
การทำงานร่วมกับคนที่แตกต่างจากตัวเรา บางครั้งก็รู้สึกอึดอัด ไม่น่าพึงพอใจในบางช่วงเวลาเหมือนกัน แต่มนุษย์เราย่อมมีความแตกต่างกัน ไม่มีใครที่เหมือนกันไปหมดทุกอย่าง จึงต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความคิดเห็นคนอื่น ความสามารถในการยอมรับและร่วมทำงานเป็นทีมกับคนอื่นที่มีความคิดและอุปนิสัยที่แตกต่าง เป็นเรื่องสำคัญมาก มิเช่นนั้นคุณก็ไม่ต้องทำงานกับใครเลย เพราะไม่มีใครเหมือนกับคุณได้ตลอดเวลา 
ทีมที่มีผู้นำที่มีความแตกต่างกันเข้ามาบริหารร่วมกัน มักจะแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าเสมอ เพราะคนหนึ่งเกิดมีความคิดที่จะลุยเดี่ยว ก็จะมีอีกคนหนึ่งมองแตกต่างกัน คอยถ่วงดุลให้คิดรอบคอบมากขึ้น งานบางอย่างที่สำคัญอาจจะตรงกับความถนัดของคนหนึ่ง แต่ไม่ตรงกับความถนัดของอีกคนหนึ่งก็เป็นไปได้ กรณีนั้นก็ให้ผู้ที่ถนัดกว่าเข้ามาทำ งานจึงจะเป็นได้อย่างราบรื่น 
บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างวอลท์ ดิสนีย์ ก็จะมีรอยเป็นคู่หูคู่ถ่วงดุลกัน หรือไมโครซอฟท์สมัยที่เริ่มธุรกิจใหม่ ก็จะมีบิล เกตส์ กับ พอล อัลเลน หรือเดลล์ คอมพิวเตอร์ก็มีไมเคิล เดลล์ ที่ลุยแหลก และมีคู่บารมีอย่างเควิน ลอรินส์ คู่ซี้ตั้งแต่สมัยอยู่หอพักที่เท็กซัส ออสติน 
โซนี่มีโมริตะเป็นนักการตลาด คู่กับอิบูกิ นักประดิษฐ์ ฮอนด้ามีฮอนด้า โซอิจิโรผู้เป็นเจ้าของกับฟูจิซาวา ทาเคโอะ สำหรับในเมืองไทยนี้ คนที่เป็นคู่บารมีกันหลายคนเหมือนกัน บางคนก็มีเพื่อนเป็นผู้ร่วมสร้าง บางคนก็มีคู่ครองคู่ชีวิตเป็นคนร่วมกันสร้างธุรกิจ ลองมองดูให้ลึกๆ แล้วจะเห็นเองว่าใครเป็นใคร 
ผู้ที่คิดจะสร้างธุรกิจใหม่ ต้องปรับมุมมองเสียใหม่ อย่าเอาคนที่คิดเหมือนกับเรา ถามอะไรก็จะได้คำตอบเหมือนเดิม "ดีครับนาย ใช่ครับท่าน" เป็นประเภท Yes-man ลองมองไปที่คนที่คิดต่าง นิสัยต่าง แต่มีวัสัยทัศน์ อุดมการณ์และค่านิยมเหมือนกัน มาร่วมงานกัน น่าจะเป็นทีมที่ดูดีที่สุด 
คนที่มีความกล้าหาญที่จะพูดกับเจ้านายตัวเองว่า "ผมขอมองต่างมุมนะครับ" หรือ "ผมขออนุญาตเสนออีกแบบหนึ่งนะครับ" คนอย่างนี้น่าคบมากกว่าคนที่เป็นแต่เอาใจ เพราะคุณเองคงจะไม่โชคดีเดาถูกเสมอไป และเมื่อถึงวันที่คุณเดาผิด แต่ไม่มีใครท้วง ไม่มีใครให้ second opinion ตอนนั้นคงจะถึงครหายแน่นอน

     

กฎข้อที่ 5 หัดตั้งคำถาม เพื่อแก้ปัญหา

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของคนเก่งๆ ก็คือ การตัดสินใจโดย
คิดว่าตัวเองเก่ง คนรอบข้างก็คิดว่าเขาเก่ง จึงไม่ให้ข้อมูล ไม่ให้ความเห็น ปล่อยให้เขากลายเป็น "คุณพ่อรู้ดี" รู้ไปหมดเสียทุกเรื่อง
เป็นเจ้าของธุรกิจต้องกัดไม่ปล่อย คอยตั้งคำถาม "ทำไม" ไว้ในใจตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ปัญหาอะไร ต้องมีคำถามนี้เสมอ
ปัญหาอีกประการหนึ่งของเรา โดยเฉพาะคนไทยเรานี้แหละ คือ การมองไม่เห็นปัญหา ขาดสำนึกถึงปัญหา ไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอาการที่แสดงออกถึงปัญหา หรือไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา จึงไม่ติดตามหาสาเหตุลงลึกถึงเรื่องราวเหล่านั้น 
มีหลายครั้งที่พนักงานส่งข้อมูลให้เจ้านายผิด เจ้านายเห็นว่าผิดจึงส่งกลับไปให้แก้ให้ถูกต้อง ก็ไม่มีการสืบหาสาเหตุว่าเกิดมาจากการพิมพ์ผิดหรือข้อมูลที่ได้มาแต่แรกผิด ถ้าเป็นอย่างแรก ครั้งต่อไปก็อาจจะผิดหรือไม่ผิดก็ได้ แต่ถ้าหากเป็นอย่างหลัง ครั้งต่อไปก็มีโอกาสผิดอีกสูงอย่างยิ่ง และอาจจะส่งผลให้ข้อมูลอื่นๆ ผิดไปด้วยก็ได้ 
ก่อนจะมาถึงเทคนิคการถาม ต้องสร้างนิสัยให้มองเห็นปัญหาก่อน แล้วปัญหาคืออะไร มันก็คือทุกอย่างที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ไม่เป็นไปตามที่มันสมควรเป็น ไม่เป็นไปตามที่ปกติมันเป็น พนักงานมาสายบ่อยก็เป็นปัญหา โทรศัพท์เข้ามาไม่มีคนรับสายก็เป็นปัญหา พนักงานหาเอกสารไม่ค่อยพบก็เป็นปัญหา เอกสารทำขึ้นมาแล้วไม่ได้เอาไปใช้งานก็เป็นปัญหา ทำสิ่งที่ลูกค้าต้องการในบางเรื่องไม่ได้ก็เป็นปัญหา ชิ้นส่วนที่ขายไปทำให้ลูกค้าต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งของเขาเองก็เป็นปัญหาของเรา ฯลฯ 
เมื่อพบปัญหาแล้วตั้งคำถาม "ทำไม" หาคำตอบได้ คุณก็เก่งขึ้นอีกระดับหนึ่งแล้ว หลายๆ ครั้งคำตอบนั้นเองกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่หรือจุดขายที่แตกต่างจากคู่แข่ง สร้างความแตกต่างกับคู่แข่งอย่างเด่นชัดได้
อย่าลืมว่าก่อนจะได้คำตอบ ต้องเริ่มต้นที่คำถามก่อนเสมอ หาคำตอบให้ได้ ถามคำถามลึกลงไปให้ถึงแก่น ให้ไปถึงรากเหง้าของปัญหาให้ได้คำตอบว่าเราสามารถทำอะไรเพื่อแก้ปัญหานั้นได้บ้าง แล้วถามต่อไปอีกว่า วิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้น มีอะไรที่ลูกค้ายอมจ่ายเพื่อแก้ปัญหานั้นบ้าง 
เวลาคนโทรศัพท์เข้ามาแล้วไม่มีคนรับ หากคิดว่ามือไม่ว่างก็ช่วยไม่ได้ ก็ไม่เป็นปัญหา แต่มีคนคิดว่าเป็นปัญหา เมื่อคนไม่ว่างจะรับก็ให้เครื่องรับแทน จึงเกิดเป็นระบบรับโทรศัพท์อัตโนมัติขึ้นมา 
สิ่งหนึ่งที่ต้องจำไว้เสมอก็คือ อย่าทำสิ่งที่คนอื่นเขาทำกันมาแล้ว ไม่อย่างนั้นคุณก็ไม่มีความพิเศษ ต้องตัดราคาอย่างเดียว 
คนที่ประสบความสำเร็จต่อเนื่อง เป็นผู้ยิ่งใหญ่ของวงการธุรกิจอย่าง Henry Ford ผู้พลิกโฉมกระบวนการผลิตรถยนต์ หรือ Steve Jobs ผู้สร้าง Apple Computer แล้วกลับมาสร้าง iPod อีกครั้งหนึ่ง หรือ Edison นักประดิษฐ์คิดค้นเครื่องใช้ไฟฟ้ามากมายจนกลายมาเป็นอาณาจักร GE ในปัจจุบัน ล้วนเป็นนักตั้งคำถามและนักหาคำตอบทั้งนั้น จะสังเกตได้อีกอย่างคือ ผู้ยิ่งใหญ่แต่ละคนไม่ได้เรียนสูงเลยสักคนเดียว แต่มีความรู้มากกว่าคนจบปริญญาเอกเสียอีก ทั้งนี้เพราะเขารู้จักตั้งคำถามได้ถูกจุด หาคำตอบได้ถูกต้อง
ในทางตรงกันข้าม คนเก่งอาจจะคิดว่าตัวเองรู้แล้ว หรือมีปริญญาค้ำคอไว้ไม่ให้ตั้งคำถามโง่ๆ กลัวเสียหน้า เราจึงไม่ค่อยจะเห็นคนเรียนสูงๆ ได้ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่กันนัก ตรงกันข้าม เรามักจะเห็นคนเรียนสูงๆ คิดอะไรเหมือนๆ กัน ทำอะไรคล้ายๆ กัน ถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็คงไม่ต้องมีคนแบบนั้นมากนัก มีคนเดียวก็พอแล้ว คนที่คิดเหมือนคนอื่นแบบนั้น ไม่สามารถสร้างธุรกิจที่มีนวัตกรรมเปรี้ยงปร้างดังทะลุโลกได้ 
เจ้าของกิจการที่จะประสบความสำเร็จ นอกจากความรู้และความสามารถในการทำแล้ว ยังต้องมีความกระหายต่อข้อมูลและความฉลาดที่เกิดมาจากการถามและการหาคำตอบ การรู้จากสิ่งที่ได้สัมผัสอย่างแท้จริงจากสภาพความเป็นจริงเท่านั้น แล้วเอาคำตอบที่ได้นั้นไปทำให้เป็นรูปธรรม 
เถ้าแก่มือใหม่ต้องเรียนรู้วิธีคิด มุมมองของเถ้าแก่รุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะจากการอ่านหรือจากการได้สนทนา จากการร่วมงาน เอาคนเหล่านั้นมาเป็น role model ให้ตัวเองมีความคิดที่ถูกต้อง
แล้วจะพบว่าผู้ยิ่งใหญ่ในอดีต ไม่ว่าจะยุคในสมัยใด มีสิ่งที่เหมือนกันคือ "Inquisitive Mind" ที่อยากรู้เหตุผลไปเสียหมด มีคำถามว่า "ทำไมถึงต้องเป็นอย่างนี้" "ไม่เป็นอย่างนี้ไม่ได้หรือ" "วิธีนี้ดีที่สุดแล้วหรือ" อยู่ตลอดเวลา 



กฎข้อที่ 6 อย่ารีรอ Just Do It

โครงการธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ต้องมาจากการหาไอเดีย ประเมินไอเดียธุรกิจนั้น แล้วเรียนรู้รูปแบบจากรุ่นพี่ๆ การเรียนรู้ที่ว่านี้ ไม่ได้เรียนรู้ผลจากการคิด แต่เรียนรู้วิธีคิด กระบวนการคิดของคนเหล่านั้น
คนที่สำเร็จมาแล้ว เมื่อเห็นอะไรสักอย่างแล้วจะคิดอยู่สามอย่างว่า "ถ้าเป็นฉันจะทำอย่างไรดี แล้วคู่แข่งจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ลูกค้าล่ะจะตอบสนองอย่างไร" ซึ่งเป็นรูปแบบการคิดแบบสามเหลี่ยมกลยุทธ์ของ Kenichi Ohmae ซึ่งมี 3C ได้แก่ Company, Competitors และ Customers คิดอยู่เสมอว่าระหว่าง 3C นี้ ตัวเรามีการวางตำแหน่งอยู่ตรงไหน พูดอีกอย่างก็คือ คิดหาวิธีการที่จะ "สร้างความได้เปรียบในการนำเสนอสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่าคู่แข่งอย่างต่อเนื่อง" นี่แหละคือกลยุทธ์
คุณต้องขจัดอุปสรรคการเรียนรู้ของตัวเอง ความคิดประเภท "ไม่มีทางเป็นอย่างนั้นหรอก" หรือ "อย่าไปคิดอย่างนั้นเลย" มักเป็นอุปสรรคใน การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ของคนไทยเรา ทำให้เราขาดอิสระทางความคิด กลายเป็นคนคิดไม่เป็น เลยคิดได้แค่ทำเหมือนอย่างคนอื่นเขา เลียนแบบแล้วขายให้ถูกกว่า อย่างนี้เมื่อไรจะรุ่งเรือง เมื่อไรจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่าง
จะขจัดอุปสรรคการเรียนรู้เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับวิธีคิดนั้น ก่อนอื่นต้องขจัดความคิดว่าตัวเองเข้าใจดีแล้ว ตั้งคำถามลงไป ให้ลึกถึงกึ๋นเลยว่า "เป็นอย่างนั้นจริงหรือ" "กรณีไหนบ้างที่ไม่เป็นอย่างนั้น" "ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น" ฝึกคิดบ่อยๆ แล้วคุณจะมีวิธีคิดที่เจิดจรัสกว้างไกล
ธุรกิจใหม่ๆ บางครั้งฝรั่งเรียกว่า "Venture" ซึ่งแปลว่า "เสี่ยง" แปลความหมายได้ชัดเจนว่า ธุรกิจใหม่มีความเสี่ยงเสมอ อยากได้กำไรก็ต้องเสี่ยงกันหน่อย Nothing ventured, nothing gained.= ไม่เสี่ยงก็ไม่ได้ ไม่มีธุรกิจใหม่อะไรที่สบายๆ ทุกอย่างราบรื่นตลอดเวลา
ผู้ที่ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ ทุกคนจะบอกว่า ต้องคิดอยู่ตลอดเวลาว่า "พรุ่งนี้เราอาจจะเจ๊งได้" ผู้ที่ประสบความสำเร็จหลายคน ทำธุรกิจเจ๊งกับมือมาแล้ว หลายคนเจ๊งมาหลายครั้งด้วยซ้ำ แต่วันนี้เขาสำเร็จแล้ว
ความเสี่ยงทางธุรกิจหลายครั้งถึงขั้นเจ๊งกันเลยทีเดียว แต่คนที่จะทำธุรกิจต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้ดี พร้อมที่จะเจ๊งได้ตลอดเวลา เหมือนกับหัดเล่นสเกตใหม่ๆ ต้องเตรียมตัวล้มตลอดเวลา แต่เมื่อไรที่ล้มก็ต้องลุกขึ้นมาใหม่ และเรียนรู้จากบทเรียนที่ล้มครั้งก่อน ไม่ให้ตัวเองล้มท่าเดิม คนที่ไม่ยอมเรียนรู้ก็จะล้มท่าเดิม ไม่มีโอกาสพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้ประกอบการที่ชาญฉลาดและประสบความสำเร็จได้
เพราะฉะนั้น จะทำอะไรต้องไม่กลัวเจ๊ง เตรียมตัวเจ๊งไว้ตั้งแต่แรก เวลาเจ๊งจริงก็ไม่รู้สึกแปลก
แต่ถ้าใครมัวแต่คิดหน้าคิดหลัง มะงุมมะงาหรา มัวแต่กลัวโน่นกลัวนี่ไม่ลงมือทำเสียที ก็จะไม่มีโอกาสได้เริ่มต้น โอกาสที่เคยมองเห็นก่อนคนอื่นก็หลุดมือไป กลายเป็นโอกาสของคนอื่นที่เห็นช้ากว่าแต่ลงมือเร็วกว่า คุณก็ไม่มีทางสำเร็จเสียที เหมือนอย่างนักคิดนักวิชาการ หรือนักศึกษาปริญญาโทเก่งๆ หลายคนที่มีไอเดียดีๆ มากมาย เขียนเป็นโครงการสวยๆ แต่ไม่เคยได้มีโอกาสลงมือทำเสียที อย่างมากก็ได้แค่คุยกับคนอื่นได้ว่า "เรื่องนั้นอั๊วก็คิดมาก่อน"
เมื่อความคิดนิ่งแล้ว ต้องลงมือทำ คิดให้เร็ว ทำให้ไว และถ้าพลาดก็ต้องแก้ไขให้เร็ว ถ้าหากเจ๊งก็ต้องลุกขึ้นมาตั้งต้นใหม่ได้เร็วกว่าคนอื่น แล้วคุณจะสำเร็จเร็วกว่าคนอื่นอย่างน้อยก้าวหนึ่งเสมอ 



กฎข้อที่ 7 สร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบก่อน

การฝึกฝนให้เป็นนักคิด เป็นสิ่งที่สำคัญมาก คนที่เป็นนักคิดต้องมีวิสัยทัศน์ ต้องมีจินตนาการเพื่อที่จะจัดทำแผนธุรกิจต่อไป แต่การมีแต่ความคิดโดยไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมนั้น เป็นเพียงการวาดฝันในอากาศ หลอกตัวเองให้มีความสุขไปวันๆ เท่านั้น คุณจำเป็นต้องสร้างรูปธรรมของความคิดสร้างสรรค์นั้นขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ เอาของจริงมาทดลองเก็บข้อมูลต่อว่าเป็นไปได้ตามที่คิดไว้หรือไม่ จึงจะเรียกว่าเป็นความคิดที่ทำให้เป็นจริงได้ 


การลงมือทำจริงเป็นสิ่งที่สำคัญมากแม้จะไม่ใช่ที่สุด กระบวนการนี้จะทำให้เข้าใจถึงเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ ในเอาแผนไปปฏิบัติ (implementation) เมื่อเห็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นสำหรับของจริงแล้ว เราจึงจะสามารถวางแผนรับมือสิ่งเหล่านั้นได้ ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่เริ่มจากความคิด มาเป็นจินตนาการแล้วต่อไปแผนธุรกิจ

ต้องจำใส่ใจไว้ให้มั่นถึงสามขั้นตอนนี้ อันได้แก่ หาไอเดีย เอาไอเดียมาสร้างจินตนาการแล้วก็เขียนเป็นแผนธุรกิจ และขั้นที่สำคัญที่สุดได้แก่ขั้นแรก ซึ่งก็คือการสร้างไอเดีย ถ้าขั้นไอเดียนี้ไม่ตกผลึก ก็ไม่สามารถจินตนาการอะไรได้ แผนธุรกิจจึงไม่เกิด

กระบวนการในการสร้างธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหม่เอี่ยมอ่องของเถ้าแก่มือใหม่หรือ Corporate venture ที่เป็นโครงการธุรกิจใหม่ภายในองค์กร มีสิ่งหนึ่งเหมือนกันในขั้นตอนของแผนธุรกิจ คือการตั้งสมมติฐาน ทดสอบแผนธุรกิจจากสมมติฐานนั้น เอาผลการทดสอบมาปรับแผนธุรกิจให้ใกล้ความเป็นจริงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งในการขัดเกลาแผนธุรกิจให้มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากที่สุด 

แผนธุรกิจส่วนใหญ่มักจะตกม้าตายตรงความเป็นไปได้ทางปฏิบัตินี่เอง 

การสร้างธุรกิจให้ยิ่งใหญ่ ไม่สามารถค่อยๆ ทำ รอให้มันเติบโตแบบ Organic growth เหมือนกับปลูกต้นไม้ได้ ขืนทำอย่างนั้น ชีวิตเราทั้งชีวิตทำได้ไม่เท่าไรก็จบแล้ว เราจะต้องคิดแบบดิจิทัล ซึ่งหมายความว่า ให้สร้างต้นแบบขึ้นมาทดลองดู ปรับให้ลงตัวจนสามารถสร้าง SOP (Standard Operating Process) ได้แล้ว คราวนี้ต้องให้เติบโตแบบดิจิทัลทีเดียวเป็นสิบเป็นร้อยเท่า เหมือนกับปั๊มแผ่นซีดี หรือกระจายอีเมลอย่างนั้นเลย ผลักดันให้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ไม่อย่างนั้นโอกาสจะหลุดลอยไป เพราะคนอื่นเขาเลียนแบบเราด้วยความไวของดิจิทัลแล้ว

ดูอย่างเซเว่นอีเลฟเว่นหรือสตาร์บัคส์ สาขาแรกๆ เปิดมาไม่มีกำไร แต่เมื่อรูปแบบธุรกิจลงตัวแล้ว เขาก็ก้มหน้าก้มตาเร่งเปิดสาขาอย่างเดียว ไปถึงจำนวนหนึ่งแล้วก็จะเริ่มกำไร เราจึงเห็นว่าเขาขยายตัวได้รวดเร็วมาก ไม่ได้เป็นเพราะเขากำไรจากสาขาแรกๆ แต่เป็นเพราะว่าเมื่อจำนวนสาขาไปถึงระดับเป้าหมายแล้ว ก็จะเริ่มกำไร

เมื่อโตถึงขั้นหนึ่งแล้ว เถ้าแก่ก็ต้องไปลงมือกับธุรกิจใหม่ อย่างนี้จึงจะเรียกว่า Entrepreneur 

ตรงกันข้าม จะคิดทำทีเดียวใหญ่โตเลยโดยไม่สร้างต้นแบบให้ลงตัวเสียก่อน ก็ไม่ได้เช่นกัน อย่างนี้จะเหมือนกับการเดินเงยหน้ามองแต่ดวงดาว ไม่ดูพื้นดินที่ตัวเองยืนอยู่ เดินไปเรื่อยๆ อาจจะตกบ่อน้ำตายได้ นักธุรกิจประเภทนี้มีมามากมายในอดีต เจ๊งมาแล้วเยอะและคงจะมีต่อๆ ไป 

ถ้าไม่รู้จักการสร้างต้นแบบขึ้นมาปรับให้ลงตัวก่อนที่จะทุ่มแรงขยายออกไป



กฎข้อที่ 8 มองอย่างพินิจพิเคราะห์ สรุปรูปแบบให้ได้

นักสร้างธุรกิจต้องมีสายตาเป็นนักเรียนรู้ด้วย เวลามองคู่แข่งหรือ role model จะต้องมองอย่างพินิจพิเคราะห์ ว่ามีอะไรที่เรียนรู้ได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นข้อดีหรือข้อเสีย 
ก่อนอื่นต้องทำจิตใจให้อ่อนน้อมถ่อมตน สร้างคติให้ตัวเองพร้อมที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นคนอื่น บริษัทอื่น หรือธุรกิจประเภทอื่นใดก็ตาม สิ่งที่สมควรเรียนรู้ "กูจะเรียนรู้ให้หมด" เพราะเคล็ดลับการบริหารของจอมยุทธ์ทั้งหลายในแวดวงธุรกิจ มักจะมีอะไรคล้ายๆ กันอยู่ ไม่มีบริษัทไหนองค์กรไหนที่ดีไปเสียหมดทุกอย่าง แต่การเป็นบริษัทที่โดดเด่น ก็จะต้องมีจุดเด่นที่เหนือกว่าคนอื่นแน่นอน เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินว่าบริษัทไหนเป็นเลิศ ก็อย่าไปคิดว่าเขาจะดีไปเสียทุกเรื่อง แต่มองให้ลึกลงไปว่าเขามีอะไรที่ดีเด่นน่าเรียนรู้บ้าง
เมื่อเห็นใครที่มีอะไรให้เรียนรู้ ก็ควรจะตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะเรียนรู้เรื่องอะไรจากเขา ทุ่มกำลังเน้นเรียนรู้เรื่องนั้น benchmark กับเขา ฝึกฝนให้ตัวเองพัฒนาจนเหนือกว่าเขาให้ได้ ไม่ใช่ทำตัวเป็นนักวิจารณ์ คอยปลอบตัวเองว่า "เขาก็เก่งเหมือนกัน แต่ก็มีจุดอ่อนตรงนั้นตรงนี้" วิธีนี้ไม่ได้ทำให้ตัวเองดีขึ้นแต่อย่างใด
ความสามารถในการมองให้เห็นรูปแบบนั้น เป็นความสามารถที่สำคัญอย่างหนึ่ง นักสร้างธุรกิจต้องมีมุมมองแบบนักวิทยาศาสตร์ด้วย ต้องใช้เวลาเดินเข้าร้านโน้นออกร้านนี้ คอยสร้างเทคนิคการสังเกตและวิเคราะห์อยู่เสมอ เวลาเห็นร้านค้าที่มีคนนิยมเข้ากันมากๆ ก็ลองจับเหตุผลของความนิยมที่เกิดขึ้นดู สังเกตจนกว่าจะค้นพบเหตุผล หมั่นสร้างนิสัยเช่นนี้ไว้ เป็นการฝึกเทคนิคการสังเกตเพื่อเรียนรู้ 
ระบบเศรษฐกิจ การค้าการขาย ว่าไปแล้วก็คือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ไม่มีอะไรแปลก คนควักกระเป๋าเอาเงินออกมาซื้อสินค้าก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ เพราะฉะนั้น การที่สินค้าขายได้ก็เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นวิทยาศาสตร์ มีเหตุมีผล มีกฎของธรรมชาติอยู่ เราจึงต้องมองอย่างนักวิทยาศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติ แล้วทำตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติ คุณก็ขายได้เอง
นักเศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของโลกทั้งหลาย ล้วนมีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นนักทดลอง เป็นนักสังเกตทั้งสิ้น นักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายก็เช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้เอาสิ่งที่เขาสังเกตและสรุปไว้มาเขียนเป็นทฤษฎีเท่านั้นเอง เขาจดจำเอาไว้แล้วใช้มันเป็นอาวุธเพื่อต่อสู้ในสังเวียนธุรกิจ ไม่เชื่อลองสังเกตคุณตัน โออิชิดู หรือซิกเว่ แห่งดีแทคดู เขาสังเกตคนที่เป็นลูกค้าของเขาจนเขารู้จักคนเหล่านั้นดี เขาจะพยายามหาคำตอบอยู่เสมอว่า ทำไมสินค้าแบบนั้นถึงขายได้ หาเหตุผลออกมาเป็นร้อยเป็นพันจนกว่าจะสามารถบอกกับตัวเองได้ว่า "อึม คำตอบนี้พอจะยอมรับได้" 
เมื่อมองเห็นรูปแบบของวิทยาศาสตร์ที่เป็นกฎแล้ว ก็จะสามารถมองเห็นอนาคตว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เห็นโลกที่อยู่อนาคต เพราะคุณเข้าใจกฎวิทยาศาสตร์อย่างดีแล้ว เหมือนนักเศรษฐศาสตร์ที่สามารถพยากรณ์เศรษฐกิจได้ นักอุตุนิยมที่พยากรณ์อากาศได้ คุณเองก็สามารถพยากรณ์สังคมได้เช่นกัน 


กฎข้อที่ 9 เมื่อตัดสินใจทำแล้ว จงลุยให้เต็มที่

จะเป็นนักสร้างธุรกิจต้องลุยได้สุดแรงเกิด คนที่ขาดความบ้าระห่ำที่จะเกินร้อยกับธุรกิจที่ตัวเองฝัน ไม่มีใครประสบความสำเร็จแน่นอน 
คนที่ได้ชื่อว่า entrepreneur ไม่ได้ทำอะไรเพื่อเงินอย่างเดียว เขาต้องค้นหาสิ่งที่เขาสนใจมากกว่าเงินให้ได้ ไม่หมดไฟเมื่อได้เงิน คนพวกนี้มีความอยากรู้อยากเห็นเป็นแรงบันดาลใจที่จะทำงานต่อไป หมดความอยากรู้อยากเห็นก็หมดพลัง ชีวิตนักสร้างธุรกิจก็สิ้นสุดลง 
คนอย่างฟิล ไนท์ ผู้ก่อตั้งไนกี้เองแม้จะประสบความสำเร็จสูงสุดเป็นเจ้าของแบรนด์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอันหนึ่ง ได้รับการทาบทาม ให้บริหารบริษัทเครื่องไฟฟ้า ที่อาจจะใหญ่กว่าไนกี้ เสนอรายได้มากกว่าที่เขามากกว่าไนกี้เสียอีก เขาก็ยังไม่สนใจ และตอบว่า "ผมไม่ชอบเครื่องไฟฟ้า ผมชอบกีฬามากกว่า" ถ้าเป็นเรื่องกีฬาแล้วเขาต้องการชนะในทุกสนาม แต่กลับไร้ความรู้สึกกับเครื่องไฟฟ้า
ประเด็นนี้สำคัญมากเวลาคิดอยากจะเริ่มทำธุรกิจ ฟิล ไนท์บอกว่า "ถ้าคิดจะทำร้านอาหาร ต้องชอบอาหารพอที่จะยอมอยู่ในครัววันละหลายๆ ชั่วโมงได้ ถ้าไม่รักขนาดนั้น เลิกเสียดีกว่า ถ้ารักมันแล้ว ถึงจะไม่สำเร็จก็ยังมีความสุข" 
ธุรกิจย่อมมีความเสี่ยง มีทั้งสำเร็จ มีทั้งล้มเหลว ไม่มีใครรับประกันได้ ใครๆ ก็พลาดได้ทั้งนั้น คนที่สำเร็จวันนี้ก็พลาดมาแล้วเกือบทุกคน สำเร็จมาแล้วก็ใช่จะไม่ล้มเหลว ใครกลัวล้มเหลวก็อย่าเริ่มตั้งแต่แรกจะดีที่สุด เพราะฉะนั้นถ้าจะลงมือทำอะไรทั้งที ก็จงเลือกสิ่งที่ทำแล้วจะมีความสุข สิ่งที่สามารถหลงใหล อยากรู้อยากเห็น และทุ่มสุดตัวได้อย่างไม่เสียดายเวลา เรียกอีกอย่างว่า "อินกับมันได้ไม่รู้จักเบื่อ" 
คนอย่างสรยุทธชอบข่าวเป็นชีวิตจิตใจ โชค บุลกุลก็หลงใหลการเป็นคาวบอย คนอย่างนี้ถึงจะสำเร็จได้สูงสุด ระหว่างทางแม้จะล้มเหลว แม้จะพ่ายแพ้ไปบ้างก็ไม่รู้สึกว่าน่าอาย ใครที่รู้สึกอายเมื่อล้มเหลวจะไม่สามารถเป็นเถ้าแก่นักสร้างธุรกิจแน่นอน
ผมเองอยากเปลี่ยนแปลงความคิดของคน อยากให้คนทั้งหลายเป็นคนเก่ง มีความคิดที่ถูกที่ดี จึงได้เขียนหนังสือ แม้ว่างานเขียนจำนวนมากจะเขียนโดยไม่ได้ค่าตอบแทน มีแต่ความเครียดเพราะต้องหาเรื่องมาเขียนให้ทันกำหนดส่ง แต่ก็เป็นความหลงใหลที่เปรียบเปรยลำบากยิ่ง


กฎข้อที่ 10 วิ่งสู้ฟัด กัดไม่ปล่อย

หากได้พบกับสิ่งที่ตนเองจะหลงใหล มีความสุขที่จะทำ ทำเท่าไรไม่เบื่อ ลืมวันลืมเวลา และเชื่ออย่างยิ่งว่าต้องประสบความสำเร็จ คุณจะยอมแพ้ง่ายๆ เชียวหรือ 
ธุรกิจเกินกว่าครึ่งปิดตัวไปในปีแรก เหลือชีวิตรอดครบ 5 ปี ได้ไม่ถึง10% ทั้งนี้เพราะว่าการเริ่มต้นธุรกิจให้ติดลม ให้สามารถอยู่ได้ตัวมันเอง เป็นเรื่องที่สุดแสนจะลำบาก หลายธุรกิจต้องเลิกล้มไปเพราะเหตุผลต่างๆ นานา ตั้งแต่เงินหมด ไฟหมด หุ้นส่วนทะเลาะกัน เจ้าของเบื่อ คนทำหันไปทำอย่างอื่น....หลากหลายสาเหตุ แต่ที่เหมือนๆ กันก็คือ ธุรกิจทั้งหมดที่เลิกไปนั้น ไปไม่ถึงดวงดาวทั้งนั้น 
ปีแรกๆ ของธุรกิจเป็นปีที่ยากที่สุด ว่ากันว่า 3 ปีแรก เป็นช่วงที่จะกำหนดชะตาชีวิตธุรกิจว่าจะรอดไปกี่น้ำ เป็นช่วงเวลาที่มีแต่ใช้เงิน เงินทองร่อยหรอ ชื่อเสียงก็ยังไม่มี ลูกค้าประจำก็ยังไม่ติด ทำอะไรยากลำบากไปหมด เล่นเอาผู้บริหารหมดกำลังใจง่ายๆ เหมือนกัน 
แต่ถ้าผู้บริหารที่ก่อตั้งธุรกิจนี้ขึ้นมาเชื่อว่ามีขุมทองรออยู่ข้างหน้า แต่หนทางยากลำบาก ก็สู้อุตส่าห์ดั้นด้นหาทางไปสู่ขุมทองในช่วงลำบากที่สุด ไม่รู้ว่าข้างหน้าจะต้องเจออะไรอีกมากเท่าไร และอีกนานแค่ไหน พอไปถึงช่วงหนึ่งเกิดหมดกำลังใจ ล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำให้มันสำเร็จเสียกลางคัน ถ้ามีใครมาทำต่ออีกเพียงนิดเดียว ก็อาจจะคว้าความสำเร็จไปครอง เพราะช่วงที่ลำบากที่สุดในปีแรกๆ มีคนทำให้เรียบร้อยไปแล้ว คนที่มาทีหลังลงทุนลงแรงน้อยกว่า แต่ได้ความสำเร็จไป ก็เท่ากับ "เตะหมูเข้าปากหมา" น่าเสียดาย น่าเจ็บใจยิ่ง คนที่เริ่มมาแต่แรกก็ต้องไปเริ่มต้นทำอย่างอื่นใหม่ ลำบากอีกรอบ แต่คว้าน้ำเหลว
ลองถามตัวเองดูสิว่าอยากจะเป็นคนไหน ถ้าให้ผมเลือก ก็จะเลือกเป็นคนแรกที่ไม่ยอมเลิกง่ายๆ จะทำต่อจนรู้ดำรู้แดงว่า มันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ให้มันตายกันไปข้างหนึ่ง 
เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนยุคใหม่ เคยกล่าวว่า "คนที่ตายคนสุดท้ายคือผู้ชนะ" ฟังดูเหมือนกับการเล่นเกม Last man standing แต่นั่นเป็นสัจธรรมที่ฟังดูง่ายๆ แต่เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ตัวเขาเองก็ล้มแล้วลุก ลุกแล้วล้มอีกครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นแมวเก้าชีวิต จนกลายเป็นผู้นำจีนที่สร้างประเทศจีนให้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่างทุกวันนี้ได้ แล้วเขาก็พิสูจน์ให้คนรุ่นหลังเห็นว่าคำพูดของเขาเป็นความจริง เขาเอาชนะศัตรูทุกคนในชีวิต ไม่ถูกเขาจับประหารก็แก่ตายก่อนเขา
ความอึดแบบกัดไม่ปล่อยของเถ้าแก่พิสูจน์มาแล้วในธุรกิจเกือบทุกแขนง ว่าเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ ลองดู สตีฟ จ็อบส์ เจ้าของแอ๊ปเปิ้ล ผู้ที่สร้างไอพ็อดกับไอโฟน ให้เป็นกระแสของโลกยุคใหม่ เขาเป็นสัญลักษณ์ของนักนวัตกรรมนักต่อสู้ เขาไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยเหมือนคนอื่น ไม่มีปริญญา ต้องนอนบนพื้นของห้องพักเพื่อน เก็บขวดเปล่าไปขาย จนสร้างบริษัทขึ้นมา ก็ยังถูกปลดออกจากบริษัทที่เขาสร้างขึ้นมากับมือ เขาก็ยังกลับมายึดคืนธุรกิจ สร้างใหม่ให้ยิ่งใหญ่กว่า แล้วยังออกผลิตภัณฑ์ใหม่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกอย่างไม่หยุดยั้งอีกด้วย
เอดิสันต้องทดลองกว่าห้าหมื่นครั้งถึงจะประดิษฐ์คิดค้นหลอดไฟฟ้าขึ้นมาได้ คนที่หูหนวกและถูกผู้ใหญ่หาว่าโง่มาแต่เด็กอย่างเขาไม่เคยทิ้งความเชื่อ เขาทุ่มเทครั้งแล้วครั้งเล่าจนประสบความสำเร็จ เขาไม่ลืมที่จะให้กำลังใจตัวเองว่า "ถ้าล้มเหลวไปห้าหมื่นครั้ง ก็เท่ากับว่าเรารู้ว่ามีวิธีผิดถึงห้าหมื่นครั้ง วิธีผิดก็น้อยลง" 
ยังมีธุรกิจอีกนับไม่ถ้วนที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคแสนสาหัสกว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ธุรกิจ ไม่เชื่อลองถามผู้หลักผู้ใหญ่รอบตัวคุณที่เห็นว่าประสบความสำเร็จดู เขาลำบากมาทั้งนั้น สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้สามารถรักษาไฟในตัวไม่ให้มอดไปได้คือการคิดบวกอยู่เสมอ คิดในแง่ดีเหมือนอย่างเอดิสันบอกตัวเองว่า "เราใกล้ความสำเร็จไปอีกวันหนึ่งแล้ว" 
คุณสมบัตินักวิ่งสู้ฟัด กัดไม่ปล่อยอันนี้ เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักล่าฝันสร้างธุรกิจทุกคนที่ต้องการความสำเร็จ คนที่ไม่ต้องการความสำเร็จก็ไม่จำเป็นต้องมีข้อนี้







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

2leep.com